ทุกโครงการชลประทานทั่วประเทศ เตรียมรับมือฝนตกหนักในสัปดาห์นี้

  •  
  •  
  •  
  •  

                                                                  ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล

กรมชลประทาน สั่งทุกโครงการชลประทานทั่วประเทศ เฝ้าระวังสภาพอากาศ หลังกรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งเตือนจะมีฝนตกหนักในระยะนี้จนถึงวันที่ 5 สิงหาคม 2564  ย้ำจับตาน้ำล้นตลิ่งแม่น้ำสายต่างๆ ตามคำสั่งการของ กอนช.ขณะที่อ่างเก็บน้ำในเขื่อนต่างๆ ยังสามารถรับน้ำได้อีก 39,336 ล้าน ลบ.ม.

  ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา อิทธิพลของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 30 กรกฎาคม – 5 สิงหาคม 2564 ประกอบกับคำสั่งการของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เรื่อง เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำล้นตลิ่ง

  ดังนั้นจึงได้สั่งการไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศ และสำนักเครื่องจักรกล จัดเจ้าหน้าที่ประจำในพื้นที่เสี่ยงเพื่อติดตามสถานกาณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมตรวจสอบอาคารชลประทานให้มีสภาพพร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด (Rule Curve) รวมทั้งปรับการระบายน้ำให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ ตลอดจนเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ อาทิ รถแบคโฮ รถขุด รถเทรลเลอร์ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ และเครื่องผลักดันน้ำประจำไว้ในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม เพื่อให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ทันที และให้กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การระบายน้ำมีประสิทธิภาพมากที่สุด

นอกจากนี้  ยังได้เน้นย้ำให้ร่วมบูรณาการกับผู้ว่าราชการจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ฝ่ายความมั่นคง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือ สามารถร้องขอไปได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร 1460 สายด่วนกรมชลประทาน ได้ตลอดเวลา

     สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 36,732 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 48% ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 12,801 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้รวมกันอีกประมาณ 39,336 ล้าน ลบ.ม. ในส่วนสภาพน้ำท่าในแม่น้ำสายหลักต่างๆ ส่วนใหญ่ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ สามารถรับน้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทาน ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำสายต่างๆ อย่างใกล้ชิดต่อไปแล้ว