กอนช. ประเมินพายุโซนร้อน “เจิมปากา” ไม่กระทบไทยโดยตรง แต่ทำให้ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้ฝนตกเพิ่มหลายพื้นที่ เข้าเป้าภาคตะวันตก-เหนือ คาดน้ำไหลลงเขื่อนใหญ่ 8 วันข้างหน้ากว่า 1,830 ล้าน ลบ.ม. ชี้แหล่งน้ำทุกขนาดยังคงมีพื้นที่เหลือรับน้ำได้อีกกว่า 46,000 ล้าน ลบ.ม. สั่งเร่งเก็บกักน้ำควบคู่เฝ้าระวังน้ำหลากป้องกันผลกระทบประชาชน
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า จากการติดตามสภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ในวันนี้ (20 ก.ค. 64) ประเทศไทยจะมีฝนตกหนักในบางพื้นที่ของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และในส่วนของ พายุโซนร้อน “เจิมปากา” บริเวณชายฝั่งประเทศจีนตอนใต้ มีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนกำลังแรงแล้ว และมีศูนย์กลางอยู่ห่างออกไปทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะไหหลำ ประเทศจีน คาดว่าที่จะเคลื่อนขึ้นฝั่งที่เมืองเหมาหมิง มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ช่วงวันที่ 21-22 ก.ค. 64
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์
อย่างไรก็ตาม พายุลูกนี้ไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย แต่จะทำให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ คาดว่าจะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลลงแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่งทั่วประเทศ ช่วงระหว่างวันที่ 20 – 27 ก.ค. 64 รวมประมาณ 1,830 ล้าน ลบ.ม. สูงสุดที่ภาคตะวันตก ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ 916 ล้าน ลบ.ม. ภาคเหนือ 448 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 329 ล้าน ลบ.ม. ภาคใต้ 86 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออก 41 ล้าน ลบ.ม. ภาคกลาง 13 ล้าน ลบ.ม. โดยอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ สูงสุด ได้แก่ เขื่อนวชิราลงกรณ 694 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนศรีนครินทร์ 216 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนภูมิพล 187 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนสิริกิติ์ 165 ล้าน ลบ.ม. ตามลำดับ ซึ่งเฉพาะ 4 เขื่อนหลักในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ จะมีน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำ รวมประมาณ 420 ล้าน ลบ.ม.
ทั้งนี้ ปัจจุบัน (20 ก.ค. 64) ปริมาณน้ำทั้งประเทศ มีจำนวน 36,117 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 44 ของความจุ ซึ่งมากกว่า 2,240 ล้าน ลบ.ม. เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปี’63 ปริมาณน้ำทั้งประเทศมีทั้งสิ้น 33,877 ล้าน ลบ.ม. แต่ปัจจุบันแหล่งน้ำทุกขนาดทั่วประเทศยังคงมีพื้นที่เหลือสำหรับรองรับน้ำเพิ่มได้อีกประมาณ 46,000 ล้าน ลบ.ม. (ข้อมูล ณ วันที่ 19 ก.ค. 64) แบ่งเป็น ภาคเหนือ รับน้ำได้อีก 19,202 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7,177 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออก 1,721 ล้าน ลบ.ม. ภาคกลาง 1,669 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันตก 13,051 ล้าน ลบ.ม. ภาคใต้ รับน้ำได้อีก 3,151 ล้าน ลบ.ม. โดยใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยาปัจจุบัน มีปริมาณน้ำรวม 7,552 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 30 ของความจุ ยังรองรับน้ำได้ประมาณ 17,300 ล้าน ลบ.ม.
“แม้ว่าพายุโซนร้อน เจิมปากา จะไม่ส่งผลกับไทยโดยตรง แต่ก็ส่งผลดีต่อปริมาณฝนที่จะเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่และมีน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำเพิ่มมากขึ้น ซึ่งแหล่งน้ำทั่วประเทศสามารถรองรับน้ำเพิ่มได้อีกมาก สทนช.ได้เน้นย้ำทุกหน่วยงานภายใต้ กอนช. บริหารจัดการน้ำโดยประเมินฝนใกล้ชิด เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้สำหรับฤดูแล้งหน้าให้ได้มากที่สุด ควบคู่กับเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำหลาก เพื่อป้องกันผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยที่อาจจะเกิดแก่ประชาชน ซึ่งเป็นข้อห่วงใยสำคัญจาก พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ด้วย” เลขาธิการ สทนช. กล่าว