ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล
กรมชลประทาน สั่งทุกโครงการชลประทานติดตามสถานการณ์น้ำท่าและสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ควบคู่ไปกับการวางแผนเก็บกักน้ำไว้ใช้ในอนาคตด้วย หลังเริ่มมีฝนตกชุกในหลายพื้นที่ ขณะที่ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา “ภูมิพล-สิริกิติ์ -แควน้อยบำรุงแดน-ป่าสักชลสิทธิ์” มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 7,433 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ 737 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ปัจจุบัน ( 12 ก.ค. 64) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 33,599 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 44 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 9,669 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีกรวม 42,469 ล้าน ลบ.ม.
เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 7,433 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 737 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่มีการเพาะปลูกข้าวนาปีไปแล้วทั้งประเทศรวม 10.44 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 63 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพาะปลูกไปแล้ว 5.11 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 64 ของแผนฯ
จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงระหว่างวันที่ 12 – 13 ก.ค. 64 ร่องมรสุมที่พาดผ่านบริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง มีกำลังอ่อนลง ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย มีกำลังปานกลาง ลักษณะเช่นนี้ยังคงทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง
ส่วนในวันที่ 14 – 18 ก.ค. 64 ร่องมรสุมพาดยังคงผ่านบริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้
ดังนั้นจึงได้กำชับไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศ ให้ติดตามสถานการณ์น้ำท่าและสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด พร้อมตรวจสอบอาคารชลประทานทุกแห่ง ให้สามารถใช้งานได้เต็มศักยภาพ รวมทั้งการกำจัดวัชพืชไม่ให้กีดขวางทางน้ำ ที่สำคัญได้เน้นย้ำให้บูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประชาสัมพันธ์ชี้แจงเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม-น้ำล้นตลิ่ง และบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ให้สอดคล้องกันอย่างเป็นระบบ โดยเน้นน้ำอุปโภคบริโภคต้องเพียงพอ ตามข้อสั่งการของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
อย่างไรก็ตาม กรมชลประทาน ได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทานบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำและน้ำท่าในแหล่งน้ำธรรมชาติ ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละช่วงเวลาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และควบคุมปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมอย่างเคร่งครัด ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำไว้ในอ่างฯให้ได้มากที่สุด โดยการปรับการระบายน้ำอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับฝนที่ตกลงมา เพื่อไม่ให้กระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายอ่างฯ และจะบริหารจัดการน้ำภายใต้ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด ด้วยความประณีตทั่วถึงและเป็นธรรม พร้อมร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการช่วยเหลือพื้นที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างเต็มศักยภาพ รวมทั้งเดินหน้าประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ขอให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้วยความระมัดระวังโดยยึดหลักปฏิบัติตามมาตรการ DMHTT เพื่อให้ทุกคนมีความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน ในส่วนของการขนย้ายเครื่องจักร เครื่องมือ ขอให้ทำการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อก่อนการขนย้ายทุกครั้งเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค หากประชาชนหรือหน่วยงานใดต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อสอบถามได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทรสายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา