“ประวิตร” สั่ง กอนช. ผนึกกำลังจัดการน้ำทั่วประเทศตาม 10 มาตรการรับมือฝน ‘64

  •  
  •  
  •  
  •  

“ประวิตร” ไล่บี้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ติดตามผลสัมฤทธิ์ในการจัดการน้ำช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา และให้เตรียมความพร้อมในการดำเนินการตาม 10 มาตรการ รับมือช่วงฤดูฝนปี 2564 ให้เกิดการเชื่อมโยงผ่านคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ย้ำต้องลดการสูญเสียน้ำให้มากที่สุด เน้นบริหารจัดการใช้น้ำฝนเป็นหลัก หวังสำรองน้ำไว้ใช้ในยามฝนน้อย

      วันที่ 19 พฤษภาคม 2564) พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานการประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2564 เรื่อง “บูรณาการเชื่อมโยงจัดการน้ำทั่วไทยด้วย 10 มาตรการรับมือฝน’64” เพื่อติดตามผลสัมฤทธิ์ในการจัดการน้ำช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา และการเตรียมความพร้อมในการดำเนินการตาม 10 มาตรการ รับมือช่วงฤดูฝนปี’64

       โดยมีหัวหน้าหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมชลประทาน กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงกลาโหม กรุงเทพมหานคร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น พร้อมด้วยผู้แทนจากคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด 4 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำวัง โดย จ.ลำปาง ลุ่มน้ำมูล จ.บุรีรัมย์ ลุ่มน้ำยม จ.พิษณุโลก และลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง จ.ปัตตานี เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ชั้น 4 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ อาคารจุฑามาศ ถนนวิภาวดีรังสิต เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ พร้อมถ่ายทอดการประชุมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Video Conference) ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ

       พลเอก ประวิตร  เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการแล้ว คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบต่อ 10 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2564 ตามที่ กอนช. เสนอ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์น้ำและป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแก่ประชาชน ประกอบด้วย 1.คาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนทิ้งช่วง 2.บริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก 3.ทบทวนและปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และเขื่อนระบายน้ำ 4.ซ่อมแซม ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ และสถานีโทรมาตรให้พร้อมใช้งาน

      5.ปรับปรุง แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ 6.ขุดลอกคูคลองและกำจัดผักตบชวา 7.เตรียมความพร้อมและวางแผนเครื่องจักรเครื่องมือประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าค่าปกติ 8.เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและปรับปรุงวิธีการส่งน้ำ 9.การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเตรียมความพร้อม ตลอดระยะเวลาฤดูฝน และ 10.ติดตามประเมินผลและปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย ตลอดระยะเวลาฤดูฝน

      สำหรับการประชุมครั้งนี้จึงเป็นการติดตามความพร้อมของแต่ละหน่วยงานตามมาตรการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การรองรับน้ำในฤดูฝนนี้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพหลักเร่งจัดทำแผนปฏิบัติการเชิงพื้นที่เพื่อขับเคลื่อน 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ให้เกิดการเชื่อมโยงผ่านคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ รวมถึงกำชับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำ การใช้น้ำ เพื่อลดการสูญเสียน้ำให้มากที่สุด โดยเน้นบริหารจัดการใช้น้ำฝนเป็นหลัก พร้อมเร่งเก็บกักน้ำบนดินและใต้ดิน ภายในเดือน มิ.ย. นี้ สำรองไว้ใช้ในช่วงฝนน้อย อีกทั้งเน้นย้ำกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ติดตาม เฝ้าระวัง แจ้งเตือน น้ำหลากดินถล่ม พร้อมทบทวนแผนเผชิญเหตุให้สอดคล้องกับสถานการณ์

                                                          ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์

   ด้าน ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการ กอนช. เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รับมือสถานการณ์ฤดูฝน ปี 2564 ซึ่งขณะนี้แต่ละหน่วยงานได้ปฏิบัติงานอย่างเต็มกำลังในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยมีตัวอย่างความก้าวหน้าหลายโครงการทั้งที่รับมือพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม และฝนน้อยกว่าค่าปกติ ทั้ง กอนช. จะติดตามในส่วนของงานที่คั่งค้างของทุกหน่วยงานให้แล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนปีนี้ ครอบคลุมทั้งการป้องกันปัญหาอุทกภัยและปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ฝนตกน้อยได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด