“ประวิตร” สั่งการ สทนช.ประสานหน่วยงานและท้องถิ่น เร่งสำรวจความพร้อมทุกแหล่งเก็บน้ำ พร้อมรองรับน้ำฝนช่วงตกชุก เม.ย.- มิ.ย.นี้ เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ หลัง กอนช.ประเมินมีแนวโน้มฝนลดลงในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค.64 เผยอนิสงค์จากพายุฤดูร้อนช่วงเดือนเมษายน ส่งผลให้มีน้ำไหลเข้าแหล่งน้ำขนาดใหญ่กว่า 500 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่ล่าสุดอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่าร้อยละ 30 ถึง 100 แห่ง
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนปัจจุบัน ที่ กอนช.ได้มีการคาดการณ์ปริมาณฝนจะมาเร็วและมากกว่าค่าปกติ โดยเฉพาะในเดือนเมษายน – มิถุนายน 2564 นี้ ซึ่งในช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน เป็นช่วงที่ทั่วประเทศประสบกับพายุฤดูร้อน ส่งผลให้มีน้ำไหลเข้าแหล่งน้ำขนาดใหญ่กว่า 500 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) โดยปริมาณน้ำไหลเข้าสูงสุดที่ภาคเหนือ 166 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันตก 164 ล้าน ลบ.ม. ภาคใต้ 121 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 47 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออก 29 ล้าน ลบ.ม. และภาคกลาง 21 ล้าน ลบ.ม. ตามลำดับ ซึ่งยังคงมีปริมาณฝนตกเช่นนี้ต่อเนื่องจนถึงเดือนมิถุนายน และจะมีแนวโน้มฝนลดลงในเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม ก่อนที่ปริมาณฝนจะกลับมาเพิ่มขึ้นมากกว่าค่าปกติอีกครั้งในช่วงเดือนกันยายน
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์
ดังนั้น พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) จึงได้สั่งการให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ประสานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและท้องถิ่นหาทางกักเก็บน้ำจากฝนที่ตกในช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายนนี้ เพื่อให้มีปริมาณน้ำต้นทุนที่เพียงพอไว้ใช้ในทุกกิจกรรม ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบให้กับบางพื้นที่ที่อาจจะเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำเนื่องจากฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยได้ ตามข้อมูลการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.)
สำหรับสถานการณ์น้ำของแหล่งน้ำทั่วประเทศ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 39,253 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 48 ของความจุ เป็นปริมาณน้ำใช้การ 15,356 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 26 โดยปัจจุบันยังพบว่ามีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาตรน้ำต่ำกว่าเกณฑ์ควบคุมต่ำสุดถึง 12 แห่ง ได้แก่ แม่กวงอุดมธารา แม่งัดสมบูรณ์ชล ภูมิพล แม่จาง แม่มอก สิริกิติ์ บึงบอระเพ็ด จุฬาภรณ์ ลำปาว บางพระ ศรีนครินทร์ และวชิราลงกรณ
ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่าร้อยละ 30 จำนวน 88 แห่ง แยกเป็น ภาคเหนือ 24 แห่ง ภาคกลาง 1 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 40 แห่ง ภาคตะวันออก 9 แห่ง และภาคตะวันตก 4 แห่ง ซึ่งแหล่งน้ำทุกแห่งมีความพร้อมรองรับปริมาณฝนที่จะตกลงมาได้อย่างเพียงพอสำรองไว้ใช้ในฤดูฝนนี้ โดยการประเมินน้ำต้นทุนแหล่งน้ำทั่วประเทศ เมื่อสิ้นสุดฤดูแล้ง ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 คาดว่าจะมีปริมาตรน้ำรวม 37,632 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 46 ของความจุ
โดยอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีปริมาตรน้ำใช้การรวม 9,774 ล้าน ลบ.ม. โดยได้กำหนดแนวทางในการบริหารจัดการน้ำ ปี 2564 ในช่วงฤดูฝน ให้หน่วยงานวางแผนการจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน และให้พิจารณาใช้น้ำฝนเป็นหลัก โดยมีกิจกรรมการใช้น้ำในช่วงฤดูฝนตามลำดับความสำคัญของความต้องการใช้น้ำรวม 96,249 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น 1.) การอุปโภค – บริโภค 2.) การรักษาระบบนิเวศ 3.)การเกษตรกรรม 4.) การอุตสาหกรรม
เลขาธิการ สทนช. กล่าวอีกว่า ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้ กอนช. ได้เตรียมรับมือสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศภายใต้ 10 มาตรการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ในช่วงฤดูฝนปี 2564 เพื่อป้องกันและลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ รวมถึงการแจ้งเตือนภัยในระดับต่าง ๆ ผ่านเครือข่ายคณะกรรมการลุ่มน้ำ คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย
1) คาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าค่าปกติ 2) การบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก 3) ทบทวน ปรับปรุงเกณฑ์ การบริหารจัดการน้ำ ในแหล่งน้ำขนาดใหญ่-กลาง และเขื่อนระบายน้ำ 4) ซ่อมแซม ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์/ระบบระบายน้ำสถานีโทรมาตรให้พร้อมใช้งาน 5) ปรับปรุง แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ 6) ขุดลอกคูคลองและกำจัดผักตบชวา 7) เตรียมพร้อม/วางแผนเครื่องจักร เครื่องมือ ประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 8) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและปรับปรุงวิธีการส่งน้ำ 9) สร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ และ 10) ติดตามประเมินผล ปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย
ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) แล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนระหว่างการเตรียมเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาโดยเร็วก่อนเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงกลางเดือน พ.ค. นี้อย่างเป็นทางการต่อไป