คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประสบความสำเร็จหลังจากใช้เวลานาน 6 ชั่วโมงในการผ่าตัดนิ่วขนาด 1.7 กิโลกรัม อุดตันในกระเพาะปัสสาวะช้างเป็นครั้งที่สองของโลกพบ เผยว่าประวัติ “พังสายทอง” ช้างเพศเมีย อายุ 50 ปี ปัสสาวะกระปิดกระปอย ปวดเกร็งช่องท้องเป็นระยะ และกินน้ำจากแหล่งน้ำมีที่ปริมาณหินปูนสูง
รศ.น.สพ.ดร.อนุชัย ภิญโญภูมิมินทร์ รองอธิการบดีวิทยาเขตกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมด้วยรศ.ดร.น.สพ. นิกร ทองทิพย์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกสัตว์ใหญ่และสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน พร้อมด้วย อ.สพญ. ดร.สุภาเพ็ญ ศรีพิบูลย์ และผศ.น.สพ.ดร.วีรพงศ์ ตั้งจิตเจริญ ภาควิชาคลินิกสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมแถลงข่าวว่าถึงความสำเร็จที่คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการผ่าตัดนิ่ว อุดตันในกระเพาะปัสสาวะในช้างสำเร็จเป็นครั้งที่สองของโลก ณ อาคารคลินิกสุขภาพช้างและสัตว์ป่า โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2564 ที่มา
รศ.น.สพ.ดร.อนุชัย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2564 พังสายทอง ช้างเพศเมีย อายุประมาณ 50 ปี ถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาที่หน่วยสัตว์ป่า โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน จ.นครปฐม ด้วยอาการปวดเกร็งช่องท้อง ซึม และไม่กินอาหาร จากการซักประวัติ พบว่าช้างมีประวัติปัสสาวะกระปิดกระปอย ปวดเกร็งช่องท้องเป็นระยะ และมีประวัติกินน้ำจากแหล่งน้ำมีที่ปริมาณหินปูนสูง นอกเหนือจากนี้จากการตรวจร่างกายเพิ่มเติม ด้วยการอัลตร้าซาวน์ผ่านทวารหนักพบก้อนนิ่วภายในกระเพาะปัสสาวะ และการส่องกล้องผ่านทางท่อปัสสาวะพบก้อนนิ่วอุดตันอยู่ภายในท่อทางเดินปัสสาวะ ร่วมกับช้างไม่สามารถปัสสาวะได้ และมีค่าเลือดที่บ่งบอกการเสียหายของไตสูงกว่าปกติถึง 3-4 เท่า
จากอาการของพังสายทอง ทางทีมสัตวแพทย์ จึงตัดสินใจทำการผ่าตัดนิ่วที่อุดตันในกระเพาะปัสสาวะ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 โดยใช้เวลาในการผ่าตัดยาวนานกว่า 6 ชั่วโมง จึงจะสามารถนำนิ่วออกมาจากท่อทางเดินปัสสาวะได้ เนื่องจากก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่ มีความกว้าง 12 เซนติเมตร ยาว 16 เซนติเมตร และมีน้ำหนักมากถึง 1.7 กิโลกรัม โดยนับเป็นความสำเร็จในการผ่าตัดนิ่วในช้างเป็นครั้งที่สองของโลก แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าจะสามารถนำก้อนนิ่วออกมาได้สำเร็จแล้ว ช้างยังถือว่าอยู่ในภาวะวิกฤตและต้องทำการดูแลหลังการผ่าตัด เพื่อฟื้นฟูสุขภาพอย่างใกล้ชิดต่อไป
ในโอกาสนี้ทางคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขอขอบคุณคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันคชบาลแห่งชาติ ที่ได้ร่วมส่งบุคลากรมาร่วมการผ่าตัดในครั้งนี้ และสมาคมสหพันธ์ช้างไทยที่ช่วยเหลือในการขนส่งช้างมารักษาที่โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน สำหรับค่าใช้จ่ายในการรักษาและดูแลช้างป่วยทั้งหมดในครั้งนี้ สนับสนุนโดย กองทุนเพื่อรักษาช้าง และสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ผู้มีจิตศรัทธาจะร่วมบริจาคเงินสมทบกองทุนเพื่อรักษาช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ที่ เลขบัญชี 769-200562-0 ธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อเป็นนำไปรักษาช้างและสัตว์ป่า ที่ป่วยหรือได้รับบาดเจ็บต่อไป
ข่าวโดย…จุไร เกิดควน