กรมชลฯจับมือท้องถิ่นบริหารจัดการน้ำลุ่มเจ้าพระยารับมือวิกฤตแล้ง

  •  
  •  
  •  
  •  

                                                          ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล

กรมชลประทาน จับมือท้องถิ่นในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา บูรณาการร่วมกันบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งนี้ ให้เป็นไปตามแผนฯที่ได้วางไว้ ลดเสี่ยงขาดแคลนน้ำ ย้ำชัดเจนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคต้องเพียงพอ

        ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน(30 ม.ค.64) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่/ขนาดกลางทั่วประเทศมีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 44,547 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 59 ของความจุอ่างฯรวมกัน  เป็นน้ำใช้การได้ 20,616 ล้าน ลบ.ม. ผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งทั้งประเทศ  มีการใช้น้ำไปแล้ว 7,658 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 45 ของแผนฯ  เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 11,075 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 45 ของความจุอ่างฯ เป็นปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 4,378 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้น้ำไปแล้ว 2,200 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 55 ของแผนฯ

      เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีจำนวนจำกัด จำเป็นต้องจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้น ตามลำดับความสำคัญโดยเน้นน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศตลอดจนรักษาเสถียรภาพของคันคลอง และสำรองน้ำไว้สำหรับช่วงต้นฤดูฝนหน้า

      “เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฤดูแล้งปีนี้มีปริมาณน้ำต้นทุนค่อนข้างน้อย ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานทุกแห่ง ปฏิบัติตามมาตรการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งอย่างเคร่งครัด พร้อมบูรณาการร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น เพื่อร่วมกันบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ อาทิ การกำหนดให้ประตูระบายน้ำและอาคารเชื่อมต่อที่รับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา เปิดรับน้ำเฉพาะเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นครั้งคราว และขอความร่วมมือสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเพื่อการเกษตร ไม่สูบน้ำเข้าพื้นที่เพาะปลูก ส่วนสถานีสูบน้ำของการประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค และการประปาส่วนท้องถิ่น สามารถทำการสูบน้ำได้ตามแผนการสูบน้ำที่ได้แจ้งไว้กับกรมชลประทาน” ดร.ทวีศักดิ์ กล่าว

     รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวอีกว่า กรมชลประทานขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและควบคุมไม่ให้มีการปล่อยน้ำเสียลงในแม่น้ำ คู คลองและแหล่งน้ำต่างๆ เนื่องจากจะทำให้ต้องระบายน้ำเพิ่มขึ้นเพื่อเจือจางน้ำที่เน่าเสีย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำที่ต้องสำรองไว้ให้เพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศตลอดฤดูแล้งนี้ รวมทั้งให้ดำเนินการประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำให้แก่เกษตรกรและประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง

    อย่างไรก็ตาม กรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดด้วยความเป็นธรรมและทั่วถึง เพื่อให้ทุกพื้นที่มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคตลอดในช่วงฤดูแล้งนี้หากประชาชนหรือหน่วยใดต้องการความช่วยเหลือ สามารถร้องขอไปยังโครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.1460 สายด่วนกรมชลประทานได้ตลอดเวลา