“เฉลิมชัย” โชว์วิสัยทัศน์ในเวทีประชุม รมต.ระดับโลก ย้ำไทยให้ความสำคัญภาคเกษตร-อาหาร

  •  
  •  
  •  
  •  

รมว.เกษตรฯ โชว์วิสัยทัศน์ในเวทีประชุมระดับโลก “ประชุมรัฐมนตรีเกษตรเบอร์ลิน ครั้งที่ 13” ผ่านออนไลน์ ย้ำไทยให้ความสำคัญและตระหนักถึงการขับเคลื่อนภาคเกษตรและระบบอาหาร เน้นส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืนที่ต้องบริหารจัดการดิน น้ำ และระบบนิเวศ พร้อมทั้งขอให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

      นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีเกษตรเบอร์ลิน ครั้งที่ 13 (13th Berlin Agriculture Ministers’ Conference) ผ่านการประชุมออนไลน์ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งการประชุมระดับรัฐมนตรีฯ ประจำปี 2564 นี้ มีรัฐมนตรีเกษตรจาก 97 ประเทศ และผู้บริหารจาก 14 องค์กรระหว่างประเทศ ร่วมหารือและผนึกนโยบายให้ภาคเกษตรสามารถฟื้นฟูจากวิกฤตโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ โดยหัวข้อหลัก คือ “How to Feed the World in Timesof Pandemics and Climate Change?”

                                                            นราพัฒน์ แก้วทอง

     นายนราพัฒน์ กล่าวว่า  การเข้าร่วมแสดงวิสัยทัศน์ของประเทศไทยในการประชุมกลุ่มย่อย หัวข้อ “Adaptation to Climate Change”– การปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากกระทรวงเกษตรฯ ตระหนักถึงความสำคัญในหัวข้อนี้ เพราะส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรและเกษตรกรในทุกระดับ และได้เสนอการขับเคลื่อนนโยบายการดำเนินการในบริบทของกระทรวงเกษตรฯ ได้แก่

     1) บริหารจัดการน้ำทั้งระบบ กระจายน้ำอย่างเหมาะสมและทั่วถึง พัฒนาแหล่งน้ำ และเพิ่มพื้นที่ชลประทาน เพื่อให้มีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร รวมทั้งป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัย 2)บริหารจัดการดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ มีการวิเคราะห์ดิน ใช้ที่ดินอย่างเป็นระบบ ใช้ระบบ Agri-map เพื่อปลูกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่ 3) จัดทำปฏิทินผลผลิตสินค้าเกษตรรายเดือนระดับจังหวัดเพื่อการบริหารจัดการความมั่นคงอาหารในระดับพื้นที่ นอกจากนี้ ภาครัฐจะใช้ข้อมูล Big Data เพื่อสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าว

     4) ส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน โดยดำเนินระบบเกษตร ได้แก่ เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน เกษตรอินทรีย์ เกษตรธรรมชาติ และวนเกษตร  ด้วยการลด ละ เลิก การใช้สารเคมี 5) ส่งเสริม Smart Farmer และสนับสนุนการใช้เครื่องจักรกลเกษตรที่เหมาะสมกับพื้นที่ของแต่ละจังหวัด เพื่อยกระดับสู่การทำเกษตรสมัยใหม่ และเกษตรแบบแม่นยำ และ 6) ร่วมมือกับธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB)เพื่อดำเนินโครงการการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคเกษตร เพื่อเพิ่มการฟื้นตัวและความยั่งยืนในพื้นที่สูง

     ในโอกาสนี้  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย ได้กล่าวถ้อยแถลงผ่านทางคลิปวิดีโอ ซึ่งกระทรวงอาหารและเกษตรแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในฐานะประเทศเจ้าภาพ ได้ประชาสัมพันธ์ถ้อยแถลงจากรัฐมนตรีเกษตรประเทศต่างๆ ผ่านทางเว็บไซต์ของ GFFA หรือ https://www.gffa-berlin.de/en/ โดยยืนยันว่า ประเทศไทยตระหนักถึงความสำคัญในการขับเคลื่อนภาคเกษตรและระบบอาหาร และการประชุมสุดยอดระดับผู้นำด้านระบบอาหารโลก (The 2021 UN Food Systems Summit) โดยประเทศไทยได้แต่งตั้งผู้ดำเนินการเตรียมการจัดประชุมระดับผู้นำด้านระบบอาหารโลก (National Dialogues Convenor) กระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายและผลักดันให้ประเทศไทยดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการความมั่นคงอาหารโลก (Chairperson of Committee of Food Security: CFS) ภายใต้กรอบองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)

      ทั้งนี้เพื่อร่วมพัฒนานโยบายด้านความมั่นคงอาหาร ทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก โดยกระทรวงเกษตรฯ พร้อมนำนโยบายด้านระบบอาหารโลกไปผลักดันให้เกิดผลปฏิบัติจริงเพื่อให้บรรลุเป้าหมายวาะการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDGs (Sustainable Development Goals)นายนราพัฒน์ฯ กล่าวในตอนท้ายว่า ประเทศไทยร่วมรับรองแถลงการณ์ (Communique) สำหรับการประชุมระดับรัฐมนตรีเกษตรเบอร์ลิน ครั้งที่ 13เน้นย้ำผลข้อหารือด้านนโยบายระบบอาหารไปขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิบัติจริง ผ่านการทำงานร่วมกับองค์การสหประชาชาติ (UN)และเวทีความร่วมมือในกรอบพหุภาคีต่างๆ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ จะรวบรวมข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบอาหาร และนำไปจัดทำนโยบายและกิจกรรมเพื่อรายงานในการประชุมสุดยอดระดับผู้นำด้านระบบอาหารโลกในช่วงปลายปีนี้ด้วย

     นายเฉลิมชัย กล่าวถ้อยแถลงผ่านทางคลิปวีดิโอ ในเว็บไซต์ของ GFFA หรือ https://www.gffa-berlin.de/en/