ปล่อยน้ำเขื่อนบางลางออกทางสปริลเวย์แล้ว!! เตือน 4 อำเภอ จ.ยะลา รับมือน้ำท่วม ขณะที่ 8 จังหวัดริมโขงส่อวิกฤตแล้งอนจิ่งหง” ลดการระบายน้ำ

  •  
  •  
  •  
  •  

กอนช.ประเมินฝนถล่มภาคใต้ตอนล่างอย่างหนักต่อเนื่อง  เตรียมระบายน้ำเขื่อนบางลาง จ.ยะลา ออกทางสปริลเวย์ เตือนประชาชน 4 อำเภอท้ายน้ำรับมือด้วย  พร้อมออกประกาศแจ้ง 8 จังหวัดริมโขง ให้รับทราบสถานการณ์น้ำและผลกระทบ หลังทางการจีนแจ้งลดการระบายน้ำจากเขื่อนจิ่งหง

      ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า กอนช.ได้ออกประกาศฉบับที่ 1/2564 เรื่อง เฝ้าระวังพื้นที่น้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมขังบริเวณภาคใต้ตอนล่าง โดยเฉพาะจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เนื่องจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากในวันที่ 4 – 5 ม.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีฝนตกสะสมในพื้นที่มากกว่า 90 มิลลิเมตร และจากการติดตามสถานการณ์น้ำเขื่อนบางลาง จังหวัดยะลา อยู่ในความดูแลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 1,383 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 95 ของความจุ โดยผลการประเมินสถานการณ์จากฝนคาดการณ์ (One Map) ในช่วงวันที่ 5 – 7 ม.ค. 2564 ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องในพื้นที่ทำให้มีน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้น

   

     คาดการณ์ว่าเขื่อนบางลางจะมีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 100 ของความจุ ดังนั้น จึงมีแผนเพิ่มการระบายน้ำผ่านอาคารระบายน้ำล้นลงสู่แม่น้ำปัตตานีปริมาณ 30 – 40 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 12 ม.ค.นี้ ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำแม่น้ำปัตตานีบริเวณด้านท้ายเขื่อนเพิ่มขึ้นเอ่อล้นตลิ่งสูงประมาณ 1.5 – 2 เมตร และท่วมขังบริเวณ อำเภอเมือง อำเภอยะหา จังหวัดยะลา ในวันที่ 6 ม.ค. 64 และท่วมขังบริเวณอำเภอเมือง อำเภอหนองจิก และอำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี ในวันที่ 7 ม.ค. 64

          อย่างไรก็ตาม  สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาค 4 (สทนช.ภาค 4) ได้ลงพื้นที่หารือร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมชลประทาน และหน่วยงานในพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำเขื่อนบางลาง อย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้การระบายน้ำส่งผลกระทบกับพื้นที่ท้ายน้ำมากเกินไป ซึ่ง สทนช.ภาค 4 ได้มีการประสานแจ้งเตือนไปยังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดยะลา และปัตตานี เพื่อสื่อสารข้อมูลไปยังประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่อีกทางหนึ่งด้วย

        ดร.สมเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ขณะเดียวกัน กอนช.ยังออกประกาศแจ้งเตือนอีกหนึ่งฉบับ เรื่อง ระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลงจากลดการระบายน้ำของเขื่อนจิ่งหง ตามที่กระทรวงทรัพยากรน้ำ สาธารณรัฐประชาชนจีน มีหนังสือถึงสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงฝ่ายไทย ลงวันที่ 5 ม.ค. 64 เรื่อง แจ้งปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนจิ่งหง ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชายแดนสาธารณรัฐประชาชนจีน จากเดิมระบายน้ำวันละ 1,904 ลบ.ม./วินาที เหลือวันละ 1,000 ลบ.ม./วินาที เพื่อบำรุงรักษาสายส่งโครงข่ายระบบไฟฟ้า ระหว่างวันที่ 5-24 ม.ค. 64 

       หลังจากนั้นจะปรับเพิ่มการระบายน้ำและกลับเข้าสู่สถานะการทำงานปกติ  ซึ่ง กอนช.ได้ประเมินระดับน้ำในแม่น้ำโขงจากการลดการระบายน้ำของเขื่อนจิ่งหง พบว่า ช่วงเหนือเขื่อนไซยะบุรี สปป.ลาว บริเวณสถานีเชียงแสน อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ระดับน้ำลดลง 60 เซนติเมตร ในช่วงวันที่ 2 – 4 ม.ค. ที่ผ่านมา และระหว่างวันที่ 5 – 28 ม.ค. 64 ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลงประมาณ 30 เซนติเมตร

      ขณะที่ช่วงท้ายเขื่อนไซยะบุรี สปป.ลาว บริเวณสถานีเชียงคาน อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย สถานีหนองคาย อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย สถานีนครพนม อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม สถานีมุกดาหาร อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร และสถานีโขงเจียม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลงประมาณ 30 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนไซยะบุรี

    อย่างไรก็ตาม สทนช.ได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการ 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขง ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เลย นครพนม หนองคาย มุกดาหาร บึงกาฬ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี เพื่อรับทราบสถานการณ์ และเฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำโขง      ซึ่งจะมีการติดตาม ประเมินสถานการณ์ และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันผลกระทบประชาชนอย่างใกล้ชิด