“ประวิตร” กำชับ สทนช. ขับเคลื่อนแผนด้านน้ำในหน้าแล้ง ให้กำหนดพื้นที่เป้าหมายเฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค เกษตรต่อเนื่อง และไม้ผลเศรษฐกิจ เพื่อพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที พร้อมให้เตรียมรันการณ์น้ำท่วมภาคใต้ที่กำลังสู่หน้าฝน โดยเฉพาะ 3 ลุ่มน้ำหลัก “ลุ่มน้ำสงขลา ลุ่มน้ำปัตตานี และลุ่มน้ำตาปี ” สทนช.
เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 24 พศจิกายน 2563 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และคณะ เดินทางตรวจเยี่ยม ผลการปฏิบัติงานตามนโยบายและแผนงานบูรณาการหน่วยงานของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พร้อมเป็นประธานการประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและการคาดการณ์แนวโน้มสภาพอากาศ เร่งรัดมาตรการเตรียมการรองรับภัยแล้งปี 2563/64 รวมถึงการติดตามความก้าวหน้างบกลางปี 2563 พร้อมทั้งปัญหาและอุปสรรค ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้ กนอช. พร้อมประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์กับผู้ว่าราชการจังหวัดเสี่ยงได้รับผลกระทบปัญหาขาดแคลนน้ำ ณ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ อาคารจุฑามาศ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ
พลเอก ประวิตร กล่าวถึงนโยบายการขับเคลื่อนการพัฒนาทรัพยากรน้ำของประเทศในปีงบประมาณ 2564 ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องน้ำอย่างต่อเนื่อง ทั้งแผนระยะเร่งด่วนตามที่รัฐบาลได้อนุมัติงบกลางในปี 2563 เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาภัยแล้งและเก็บกักน้ำในฤดูฝนที่ผ่านมา โดยได้เร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้แล้วเสร็จตามแผน รวมถึงการวางโครงสร้างการบริหารจัดการน้ำของประเทศในระยะยาวควบคู่กัน ซึ่งจากการรายงานผลการดำเนินงานด้านน้ำปีที่ผ่านมา ทุกหน่วยงานได้ร่วมมือกันขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนเป็นผลสำเร็จที่น่าพอใจ
ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงาน เป็นไปตามเป้าหมาย สามารถแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเตรียมการรับมือในช่วงฤดูแล้ง ได้มอบหมายทุกหน่วยติดตามประเมินสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งกำหนดพื้นที่เป้าหมายเฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค เกษตรต่อเนื่อง และไม้ผลเศรษฐกิจ เพื่อพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที โดยให้ สทนช. บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนจัดสรรน้ำและแหล่งน้ำสำรองให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน รวมถึงกำหนดแนวทาง และมาตรการในการแก้ไขปัญหาหน่วยงานต้องบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน เพื่อควบคุมสถานการณ์ไม่ให้มีความรุนแรง ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบกรอบแนวทางการบริหารจัดการน้ำ และ 9 มาตรการรับมือฤดูแล้งปี 2563/64 เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทั้งนี้ หากพบว่ามีโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนก็ให้เร่งเสนอขอรับการสนับสนุนงบกลางเพิ่มเติมโดยเฉพาะโครงการที่ท้องถิ่นมีความต้องการ
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์
ด้าน ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ถือว่าเข้าสู่ช่วงฤดูฝนบริเวณพื้นที่ภาคใต้แล้ว รองนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติได้สั่งการให้หน่วยงานภายใต้ กอนช. ติดตามสภาพอากาศ แนวโน้มปริมาณฝนและพายุที่อาจจะเข้าสู่บริเวณภาคใต้ ซึ่งพบว่าปรากฏการณ์ลานีญ่ายังมีอิทธิพลในช่วงเวลาดังกล่าวเช่นกัน จึงอาจจะส่งผลให้เกิดฝนตกหนักได้ โดยเฉพาะ 3 ลุ่มน้ำหลัก ได้แก่ ลุ่มน้ำสงขลา ลุ่มน้ำปัตตานี และลุ่มน้ำตาปี
เบื้องต้น กอนช. ได้ประเมินพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยเป็นรายตำบล และแจ้งเตือนหน่วยงานในระดับพื้นที่เตรียมการรับมืออุทกภัยภาคใต้ไว้ล่วงหน้าแล้ว โดยมีการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ การอพยพ แก้ไขปัญหาสิ่งกีดขวางทางน้ำ และเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือเพื่อพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนกรณีเกิดภัยไว้เช่นกัน ขณะเดียวกัน รองนายกฯ ยังได้กำชับทุกหน่วยงานเร่งดำเนินการรับมือสถานการณ์น้ำน้อยในพื้นที่เสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบน อีสานตอนบน และภาคกลาง เพื่อบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ ในช่วงฤดูแล้งปี 2563/64 นี้ ให้เป็นไปตามแผน ซึ่งจะครอบคุลมในช่วงแล้งนี้ถึงต้นฤดูฝนหน้าด้วย
ทั้งการอุปโภคบริโภค การเกษตร รวมถึงคุณภาพน้ำตามภารกิจความรับผิดชอบให้ชัดเจน หากการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากฤดูแล้งโดยใช้งบประมาณปกติของหน่วยงานไม่เพียงพอ จำเป็นต้องขอรับการสนับสนุนงบกลางจากรัฐบาล ต้องเร่งเสนอแผนงาน/โครงการ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ได้รับ ความจำเป็นเร่งด่วนเป็นสำคัญ และต้องดำเนินการได้แล้วเสร็จทันกับความต้องการของประชาชนด้วย