“ประวิตร” นัดถก กอนช. 24 พ.ย.นี้ เร่งแผนแก้ภัยแล้ง รับมือน้ำท่วใภาคใต้ คาดฝยตกถึงมีนาคม 64

  •  
  •  
  •  
  •  

                                                                              ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์

“ประวิตร”  ได้ฤกษ์นัดประชุม กอนช.ในอังคารที่ 24 พฤศจิกายน 2563 นี้ เพื่อถกแผนติการรับมือแล้งปี 63/64 หลังพบเขตพื้นที่ชลประทานตามแนวลุ่มน้ำเจ้าพระยามีน้ำต้นทุนน้อยเต็มที พร้อมควบซักซ้อมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทภัยในพื้นที่ภาคใต้  ที่คาดว่าจะมีถึงเดือยมีนาคม 2564 

          ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ในอังคารที่ 24 พฤศจิกายน 2563 นี้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีกำหนดตรวจเยี่ยมผลการปฏิบัติตามนโยบายและแผนงานบูรณาการหน่วยงานของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พร้อมเป็นประธานการประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ณ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ อาคารจุฑามาศ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ เพื่อหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมมอบนโยบายการปฏิบัติงานของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2563/64 รวมถึงมาตรการเตรียมความพร้อมป้องกันผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเข้าสู่ช่วงฤดูฝนของภาคใต้แล้ว ขณะเดียวกัน ยังติดตามเร่งรัดความก้าวหน้างบกลางปี 2563 ที่หน่วยงานได้รับงบประมาณจากรัฐบาลในการป้องกันและแก้ไขปัญหาช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมาและเก็บกักน้ำก่อนหมดฝนด้วย

          สำหรับสถานการณ์น้ำในภาพรวมของประเทศในช่วงต้นฤดูแล้งขณะนี้ พบว่า ในภาพรวมมีปริมาณน้ำน้อยกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ภาคตะวันตกที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าปีที่แล้วอยู่ประมาณ 5,000 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้น การบริหารจัดการน้ำในลุ่มเจ้าพระยาที่เคยต้องอาศัยน้ำจากภาคตะวันตกในช่วงฤดูแล้งนี้ ต้องพึ่งพาตนเองเป็นหลัก ซึ่งเร็วๆ นี้ กรมชลประทานจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การประปานครหลวง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร ในการบริหารจัดการน้ำรักษาคุณภาพน้ำ เพื่อป้องกันผลกระทบกับการผลิตน้ำประปา รวมถึงการจัดสรรน้ำในพื้นที่ลุ่มภาคกลางเพื่อเตรียมการรับมือล่วงหน้าด้วย

     ขณะที่ภาคอื่นๆ พบว่า อิทธิพลของพายุที่ผ่านมา ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าแหล่งเก็บกักน้ำเป็นจำนวนมาก อาทิ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีปริมาณน้ำใช้การถึง 73% และสูงสุดที่ภาคตะวันออกถึง 83% ทั้งสองภาคนี้ก็ไม่น่าเป็นห่วงมากนัก แต่พื้นที่ภาคเหนือพบว่าแหล่งน้ำต่างๆ ยังมีปริมาณน้ำมีน้ำใช้การเพียง 50% จำเป็นต้องมีการวางแผนการจัดสรรน้ำอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง โดยเฉพาะแผนการป้องกันผลกระทบการขาดแคลนน้ำสำหรับเกษตรไม้ผลไม้ยืนต้น ซึ่ง สทนช.ได้หารือหน่วยงานที่รับผิดชอบแหล่งน้ำต่างๆ จัดทำแผนปฏิบัติการบริหารจัดการน้ำเป็นรายอ่างฯ เพื่อควบคุมให้ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่เพียงพอตามแผน และขอให้ทุกหน่วยงานจัดทำแผนปฏิบัติการให้สอดคล้องกับ 9 มาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งปี 2563/2564 ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เสนอเข้าที่ประชุม กอนช.ที่รองนายกฯ เป็นประธานด้วยเช่นกัน ประกอบด้วย

     1.เร่งกักเก็บน้ำ ก่อนหมดฝน 2.จัดหาแหล่งน้ำสำรองน้ำดิบในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ 3.ปฏิบัติการเติมน้ำ โดยจะเติมน้ำให้กับพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ 4.กำหนดการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง 5.วางแผนเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง 6.เฝ้าระวังคุณภาพน้ำ ในแม่น้ำสายหลักและสายรอง 7.ใช้หลัก 3R ส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรม 8.ติดตาม ประเมินผล และ 9.สร้างการรับรู้สถานการณ์น้ำและแผนจัดสรรน้ำเป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบกรอบแนวทางการบริหารจัดการน้ำ และ 9 มาตรการรับมือฤดูแล้งปี 2563/64

         อย่างไรก็ตาม จากการติดตามและประเมินสภาพอากาศและปริมาณฝน พบว่า ในช่วงปลายปีประเทศไทยยังได้รับอิทธิพลจากปรากฏการณ์ลานีญ่าซึ่งจะส่งผลกระทบชัดเจนสุดในช่วงเดือนธันวาคมนี้ และกลับเข้าสู่สถานการณ์ฝนปกติในช่วงเดือน ก.พ.- มี.ค. 64 ซึ่งจากการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ในช่วงเดือนธันวาคมนี้ มีทั้งสิ้น 603 ตำบล 107 อำเภอใน 13 จังวัด และเดือนมกราคม’64 จำนวน 93 ตำบล 45 อำเภอ 10 จังหวัด ดังนั้น ในช่วงฤดูมรสุมในพื้นที่ภาคใต้ในช่วงสิ้นปีต่อเนื่องถึงต้นปีหน้า จะต้องเฝ้าระวังฝนหนักและพายุที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นได้ประมาณ 1- 2 ลูก ซึ่งในการประชุมกอนช. ในวันที่ 24 พ.ย.นี้ จะมีการหารือถึงแผนการเตรียมการของหน่วยงานว่าทำอะไรไปแล้ว และยังติดขัดปัญหาอุปสรรคให้เร่งแก้ไขโดยเร็ว