กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ประกาศเตือนประชาชนเตรียมรับมือ พายุไต้ฝุ่น “โมลาเบ” เข้าไทย ช่วง 28-30 ต.ค.30 หลังได้ประเมินฝนจากแผนที่คาดการณ์ปริมาณฝน (One Map) ทุกภาค เสี่ยงกับน้ำท่วม ระบุ 8 ลำน้ำเออล้นตลิ่ง ขณะที่เขื่อนขนาดใหญ่ 6 แห่งน้ำเต็มแล้ว
ประกาศ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
เรื่อง เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมขัง
ฉบับที่ 14/2563
********************************************************************************************************
ตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ฉบับที่ 1 (243/2563) ลงวันที่ 26 ตุลาคม 2563 เวลา 17.00 น. เรื่อง พายุไต้ฝุ่น “โมลาเบ” (พายุระดับ 5) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลางคาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนกลาง ในวันที่ 28 ตุลาคม 2563 หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงตามลำดับ ประกอบกับลมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้พื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้มีฝนตกหนัก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากได้
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ประเมินฝนจากแผนที่คาดการณ์ปริมาณฝน (One Map) พบว่า
ในช่วงวันที่ 28 – 30 ตุลาคม 25๖๓ จะมีฝนเพิ่มขึ้นในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งอาจส่งผลให้ระดับน้ำในแหล่งน้ำและลำน้ำเพิ่มสูงขึ้น จากการติดตามวิเคราะห์
สถานการณ์น้ำ พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำเกินความจุและน้ำหลากเอ่อล้นตลิ่งบริเวณที่ลุ่มต่ำ
ดังรายละเอียดที่แนบท้ายประกาศ ประกอบด้วย
1. เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำเกินความจุเก็บกัก
1.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ อ่างเก็บน้ำ
ลำตะคอง อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ่างเก็บน้ำมูลบน จังหวัดนครราชสีมา อ่างเก็บน้ำขุนด่านปราการชล
จังหวัดนครนายก และอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จังหวัดระยอง
1.2 อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 124 แห่ง แบ่งเป็น ภาคเหนือ จำนวน 10 แห่ง
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 76 แห่ง ภาคกลาง จำนวน 4 แห่ง ภาคตะวันออก จำนวน ๒0 แห่ง
ภาคตะวันตก จำนวน 11 แห่ง และภาคใต้ จำนวน 3 แห่ง
2. เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง
2.1 แม่น้ำมูล บริเวณตำบลหนองยาง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา ตำบลทุ่งกุลา อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ และตำบลนิคม อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์
2.2 ลำปะเทีย บริเวณตำบลอีสานเขต อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์
2.3 ลำชี บริเวณตำบลตระแสง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์
2.4 ห้วยทับทัน บริเวณตำบลห้วยทับทัน อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ
2.5 แม่น้ำปราจีนบุรี บริเวณตำบลกบินทร์ อำเภอกบินทร์บุรี ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี
2.6 แม่น้ำบางปะกง บริเวณตำบลบางเตย อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี
2.7 คลองชี บริเวณตำบลเขาวิเศษ อำเภอวังวิเศษ จังหวัดตรัง
2.8 แม่น้ำตาปี บริเวณตำบลท่าสะท้อน อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ทั้งนี้ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำ ดังนี้
1.พิจารณาบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก และในลำน้ำต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ โดยเฉพาะแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ ๙๕ หรือเกินเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำสูงสุด (Upper Rule Curve) เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายอ่างเก็บน้ำ รวมทั้งใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นแก้มลิงหน่วงน้ำและรองรับน้ำหลาก
2.ตรวจสอบ ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอ่างเก็บน้ำทุกขนาด โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กที่ถ่ายโอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับผิดชอบดูแล รวมทั้งอาคารบังคับน้ำระบบชลประทานต่าง ๆ ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดเวลา ตลอดจนสำรวจและกำจัดสิ่งกีดขวางที่เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ หากมีการชำรุดเสื่อมสภาพ ขอให้เร่งซ่อมแซมบำรุงรักษา และรายงานให้ กอนช.ทราบทันที
3. ในกรณีที่มีความเสี่ยงน้ำล้นอ่างเก็บน้ำ หรืออาจกระทบต่อความมั่นคงโครงสร้างเขื่อน
ขอให้หน่วยงานเตรียมแผนรับมือเหตุฉุกเฉิน บุคลากร รวมถึงเครื่องจักรเครื่องมือ เพื่อรับมือสถานการณ์ได้ทันที
พร้อมแจ้งเตือนประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบให้ทราบล่วงหน้า
4. จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ในการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ พร้อมด้วยเครื่องจักรเครื่องมือ
และดูแลบำรุงรักษาระบบสื่อสารหลักให้สามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงจัดเตรียมระบบสื่อสารสำรอง
เพื่อบูรณาการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน
ประกาศ ณ วันที่ 27 ตุลาคม 2563 เวลา 09.00 น.
(นายสำเริง แสงภู่วงค์)
รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ