“3 ปี สทนช.” โชว์ผลงานการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ เดินหน้าบูรณาการขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ 20 ปี คลอด 6 แผนงานสร้างความมั่นคงด้านน้ำ ผลักดันโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญกว่า 500 โครงการ ผลักดันกฎหมายรองตามพรบ.ทรัพยากรน้ำ’61 พร้อมเปิด app Thai Water Plan เกาะติดการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ
วันที่ 25 ตุลาคม 2563 ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผย ในโอกาสวันสถาปนา สทนช.ครบรอบปีที่ 3 ว่า ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา สทนช.ได้บูรณาการขับเคลื่อนแผนแม่บทบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยได้กำหนดแนวทางการดำเนินงาน เป้าหมาย ตัวชี้วัด รวมทั้งการจัดทำแผนหลักและแผนปฏิบัติการตลอดจนได้มีการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบสำหรับการขยายผลให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ ได้เห็นชอบ 6 แผนงาน/แนวทาง คือ
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์
1.แผนปฏิบัติการด้านการจัดการน้ำเสียชุมชน 20 ปี ตั้งเป้าจัดระบบบำบัดน้ำเสียทั้งหมด 780 แห่ง บำบัดได้ 1.7 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)ต่อวัน ประชาชนได้ประโยชน์ 10 ล้านคน 2.แผนปฏิบัติการโครงการเพื่อการพัฒนาปี 2562-2563 โดยก่อสร้างระบบประปา 20 แห่ง สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ 989,160 ลบ.ม.ต่อวัน ประชาชนได้ประโยชน์ 1 ล้านคน
3.แผนหลักการป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนสำคัญ 715 ชุมชน ประชาชนได้ประโยชน์ 7.82 ครัวเรือน 4.แผนปฏิบัติการด้านการจัดการน้ำต้นทุน จ.ภูเก็ต จำนวน 3 โครงการ 5.แผนบูรณาการอุตุนิยมวิทยาเขตร้อนปี 2562-2563 เพื่อให้ระบบการพยากรณ์อากาศมีความแม่นยำทันสมัย และ 6.แนวทางด้านการจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ โดยเร่งรัดก่อสร้าง ฟื้นฟู ตรวจสอบระบบบำบัดน้ำเสีย เก็บค่าบริการบำบัดน้ำเสียตามผู้ก่อมลพิษ พร้อมปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ สทนช.ยังได้ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญอีก 526 โครงการ โดยแบ่งเป็น โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 151 โครงการ โครงการที่ต้องเตรียมเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) 128 โครงการ และโครงการที่ต้องรายงานความก้าวหน้าต่อ กนช.ในภาพรวม 247 โครงการ พร้อมทั้งได้เสนอแผนงาน/โครงการด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร จำนวน 102 แผนงาน/ โครงการ วงเงินกว่า 14,223 ล้านบาท โดยได้รับอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 แล้ว 31 โครงการ วงเงิน 882 ล้านบาท ที่เหลือ 71
โครงการอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อม และบรรจุเข้าแผนเพื่อเสนอของงบประมาณวงเงิน 13,341 ล้านบาท ตลอดจนได้ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ปี 2563-2580 จำนวน 38 โครงการ วงเงิน 52,191 ล้านบาท ได้ปริมาณน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้น 872 ล้าน ลบ.ม. โดยในจำนวนนี้ สทนช.ได้กำกับขับเคลื่อนโครงการไปแล้ว 16 โครงการดำเนินการแล้วเสร็จ ในปี 2565 จะได้น้ำเพิ่มขึ้น 253.60 ล้าน ลบ.ม.
ดร.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า ในช่วงที่ผ่านมา สทนช.ยังได้บูรณาการจัดทำแผนปฏิบัติการและแผนงบประมาณด้านทรัพยากรน้ำและติดตามประเมินผลโครงการ ประกอบด้วย 1.ผลดำเนินงานแผนบูรณาการน้ำปี 2563 จำนวน 3,621 โครงการ งบประมาณ 56,711 ล้านบาท 2.งบกลางปี 2563 บูรณาการหน่วยงานจัดทำโครงการแก้ปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม และโครงการเร่งด่วนเพื่อการกักเก็บน้ำฤดูฝนปี 2563 โดย ครม.ได้อนุมัติงบกลางจำนวน 30,985 โครงการ วงเงิน 28,831 ล้านบาท และนายกรัฐมนตรีอนุมัติอีก 69 โครงการ 24,59 ล้านบาท
3.จัดทำแผนปฏิบัติการด้านน้ำปี 2564 จำนวน 26,810 โครงการ วงเงิน 115,448 ล้านบาท 4.ติดตามประเมินผลโครงการตามแผนบูรณาการด้านน้ำปีงบประมาณ 2563 และงบกลางปี 2563 และ 5.Thai Water Plan เป็นการพัฒนาระบบฐานข้อมูลแผนปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแผนงบประมาณรายจ่ายปี 2563 ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และพัฒนาระบบติดตามพร้อมทั้งรายงานผลการปฏิบัติงานแผนบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จำนวน 30,985 โครงการ วงเงิน 28,831 ล้านบาท
สำหรับการก้าวขึ้นสู่ปีที่ 4 ในปี 2564 สทนช. จะดำเนินการขับเคลื่อนแผนแม่บทบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี โดยเฉพาะด้านที่ 1 น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และด้านที่ 4 คุณภาพน้ำที่ต้องบูรณาการหน่วยงานเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการประปาหมู่บ้านในระยะ 20 ปี และเตรียมความพร้อมดำเนินการ รวมทั้งจะดำเนินการจัดแผนแม่บทลุ่มน้ำที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาและศักยภาพของพื้นที่
โดยมีเป้าหมายและตัวชี้วัดให้ชัดเจน จัดทำแผนปฏิบัติการระยะสั้น ระยะปานกลาง ให้สอดคล้องกับตัวชี้วัดของแผนแม่บทลุ่มน้ำ เสนอแผนแม่บทลุ่มน้ำ แผนปฏิบัติการ แผนงานตามนโยบายรัฐบาลและการขับเคลื่อนโครงการสำคัญ ผ่านคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด และคณะกรรมการลุ่มน้ำ ให้เป็นไปตามขั้นตอนการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำพร้อมทั้งปรับปรุงการติดตาม ประเมินผลแผนงานและโครงการ โดยใช้เทคโนโลยี ผ่าน app Thai Water Plan ซึ่งมีกลไกการติดตามระดับพื้นที่ ระดับลุ่มน้ำ ผ่านคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด และคณะกรรมการลุ่มน้ำ เพื่อวิเคราะห์ สรุปรวบรวมเสนอต่อ กนช. และ ครม. ต่อไป