สทนช.เตรียมชงแผนพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อเกษตร-อุตฯ-อุปโภคบริโภคในพื้นที่เขต ศก.พิเศษภาคอีสาน

  •  
  •  
  •  
  •  

สทนช.เตรียมแผนพัฒนาแหล่งน้ำ รองรับเพื่ออุปโภคบริโภค-การเกษตร และภาคอุตสาหกรรม ในพื้นที่ 3 เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคอีสาน “หนองคาย จังหวัดนครพนม จังหวัดมุกดาหาร “ เผยผลการศึกษาใกล้แล้วเสร็จแล้ว และจะจัดให้มีการประชุมปัจฉิมนิเทศ ก่อนนำเสนอสรุปผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในเร็ว ๆ นี้

    ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวภายหลังเดินทางลงพื้นที่ จ.นครพนม เพื่อติดตามการดำเนินงานโครงการศึกษาการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง พื้นที่เกษตรและพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดหนองคาย จังหวัดนครพนม จังหวัดมุกดาหาร ที่ สทนช. ได้ดำเนินการศึกษามาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2562 ว่า ปัจจุบันผลการศึกษาใกล้แล้วเสร็จและจะจัดให้มีการประชุมปัจฉิมนิเทศเพื่อนำเสนอสรุปผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในเร็ว ๆ นี้

   

                                                              ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ 

   อย่างไรก็ตามผลการประเมินศักยภาพพื้นที่และความต้องการใช้น้ำจากทุกภาคส่วน พบว่า ในพื้นที่เป้าหมายพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษมีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะน้ำเพื่อการเกษตร น้ำอุปโภค-บริโภค นอกจากนั้นยังมีบางพื้นที่เสี่ยงต่อการประสบปัญหาอุทกภัย และอนาคตมีความจำเป็นต้องมีแหล่งน้ำรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยคาดว่าในอีก 20 ปี ข้างหน้า (ปี 2580)  พื้นที่ 3 จังหวัด จะมีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นโดยส่วนใหญ่มาจากด้านการเกษตร และด้านอุปโภคบริโภคเป็นหลัก โดย จังหวัดหนองคาย จะมีความต้องการน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค 73.4 ล้าน ลบ.ม./ปี ภาคการเกษตร 1,303 ล้าน ลบ.ม./ปี และอุตสาหกรรม 46.1 ล้าน ลบ.ม./ปี

       ภายในปี 2568 มีแผนพัฒนาแหล่งน้ำเพิ่มเติมอีก 24.92 ล้าน ลบ.ม. จังหวัดนครพนม จะมีความต้องการน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค 92.2 ล้าน ลบ.ม./ปี ภาคการเกษตร 1,405 ล้าน ลบ.ม./ปี และอุตสาหกรรม 41.7 ล้าน ลบ.ม./ปี โดยภายในปี 2568 มีแผนพัฒนาแหล่งน้ำเพิ่มเติมอีก 34.59 ล้าน ลบ.ม. จังหวัดมุกดาหาร จะมีความต้องการน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค 41.6 ล้าน ลบ.ม./ปี ภาคการเกษตร 1,832 ล้าน ลบ.ม./ปี และอุตสาหกรรม 18.3 ล้าน ลบ.ม./ปี โดยภายในปี 2568 มีแผนพัฒนาแหล่งน้ำเพิ่มเติมอีก 39.31 ล้าน ลบ.ม.

 จากการศึกษาข้อมูลทั้งด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ผ่านมา ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาทรัพยากรน้ำที่ผ่านความเห็นชอบของประชาชนในการแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำ 6 ด้าน ตามลำดับ ดังนี้ 1.ภัยแล้งและแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร 2.แหล่งน้ำอุปโภค-บริโภค 3.ปัญหาอุทกภัย 4.ปัญหาคุณภาพน้ำ 5.การจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วม และ 6.การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำ โดยได้กำหนดแนวจัดทำแผนหลักการจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี จำนวน 1,523 โครงการ รวมงบประมาณกว่า 36,115 ล้านบาท ได้แก่ ด้านแก้ปัญหาภัยแล้ง 1,251 โครงการ ด้านแก้ปัญหาขาดแคลนแหล่งน้ำอุปโภค-บริโภค 135 โครงการ ด้านการบรรเทาปัญหาอุทกภัย 121 โครงการ ด้านคุณภาพน้ำ/อนุรักษ์แหล่งน้ำ 12 โครงการ ด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำ 3 โครงการ และด้านจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วม 1 โครงการ

       นอกจากนี้ ใน อีก 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดหนองคาย และจังหวัดมุกดาหาร ก็มีการศึกษาโครงการเพื่อช่วยกักเก็บน้ำสำหรับแก้ไขปัญหาภัยแล้งและรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจพิเศษ ด้วย ได้แก่ 1. โครงการฟื้นฟูหนองกอมเกาะ จังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่แห่งเดียวในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ มีพื้นที่ 2,900 ไร่ มีศักยภาพในด้านการอุปโภค-บริโภค การเกษตรและแหล่งน้ำสำรองของเขตเศรษฐกิจพิเศษ

             2.โครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยมุก จังหวัดมุกดาหาร มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาพื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 13,000 ไร่ ซึ่งเป็นความต้องการของประชาชนในพื้นที่ การพัฒนาโครงการจะครอบคลุมการป้องกันน้ำท่วมในเขตชุมชนเมือง การจัดหาแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับการอุปโภค-บริโภค การเกษตรและอุตสาหกรรมรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดมุกดาหาร

       “สทนช. จะนำแผนหลักที่ได้จากการศึกษาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำควบคู่ไปกับการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพในภาคการเกษตรกร ภาคอุตสาหกรรม การใช้น้ำภาคครัวเรือน ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำในอนาคต รองรับกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมที่เติบโตขึ้นจากการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป” เลขาธิการ สทนช. กล่าว