เขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์ ปรับลดการระบายน้ำช่วง 8 – 11 ต.ค.นี้ หลังฝนตกหนักในพื้นที่ตอนบน

  •  
  •  
  •  
  •  

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์

กอนช.เกาะติดสถานการณ์ฝนตอนบน ส่งผลปริมาณน้ำในแม่น้ำปิง แม่น้ำน่าน และเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น เร่งประสานหน่วยเกี่ยวข้องปรับลดการระบายเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ป้องผลกระทบพื้นที่ท้ายน้ำ พร้อมแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ

          ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์ร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางยังพัดปกคลุ่มทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยขณะนี้ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมาก บริเวณ จ.กำแพงเพชร พิษณุโลก พิจิตร และ จ.นครสวรรค์ ส่งผลให้ระดับน้ำและปริมาณน้ำในแม่น้ำปิง แม่น้ำน่าน และแม่น้ำเจ้าพระยา เพิ่มสูงขึ้น โดยในวันนี้เมื่อเวลา 06.00 น.ที่ผ่านมาพบว่า สถานีวัดน้ำ C2 จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,035 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 726 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และคาดการณ์ว่าจะส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา บริเวณ ต.บ้านกระทุ่ม ต.หัวเวียง อ.เสนา และ ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 50 เซนติเมตร ถึง 1 เมตร

          ดังนั้น เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น กอนช. จึงได้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลดการระบายน้ำเขื่อนด้านเหนือน้ำ เพื่อลดปริมาณน้ำที่ไหลมาเพิ่มเติมในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยกรมชลประทานได้มีการผันน้ำเข้าคลองส่งน้ำต่างๆ เพื่อควบคุมระดับน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ 700 – 900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที พร้อมถึงให้มีการแจ้งเตือนให้ผู้ประกอบกิจการในแม่น้ำกิจการในแม่น้ำเจ้าพระยา และประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณริมตลิ่งแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำน้อยด้านท้ายประตูระบายน้ำผักไห่ ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิดด้วย

          “ขณะนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์ เพื่อลดผลกระทบในพื้นที่ท้ายน้ำ รวมถึงยังเป็นการเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำตามนโยบายของรองนายกรัฐมนตรี (พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ) ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ โดยเขื่อนภูมิพล จ.ตาก ปรับลดการระบายจาก 3 ล้านลบ.ม.ลงเหลือวันละ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร 2.เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ ปรับลดการระบายจาก 6 ล้านลูกบาศก์เมตร เหลือวันละ 4 ล้าน ล้านลูกบาศก์เมตร โดยจะยังคงระบายน้ำในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบต่อผู้เลี้ยงปลาในกระชังท้ายเขื่อนและคุณภาพน้ำท้ายเขื่อนด้วย ทั้งนี้ กฟผ.ได้ดำเนินการปรับลดการระบายน้ำจากทั้ง 2 เขื่อน ตั้งแต่วันนี้ – 11 ต.ค.63 โดย กอนช.จะติดตามสถานการณ์ฝนอย่างใกล้ชิดเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการน้ำในเขื่อนให้สอดคล้องกับสถานการณ์”ดร.สมเกียรติ กล่าว

          สำหรับสถานการณ์การติดตามสภาพอากาศปัจจุบันที่คาดว่าจะมีพายุดีเปรสชันลูกใหม่เข้าสู่ประเทศไทยนั้น ขณะนี้ได้ลดระดับเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง ปกคลุมบริเวณประเทศกัมพูชา คาดว่าจะเคลื่อนตัวเข้าสู่ภาคตะวันออกของประเทศไทยเข้าสู่บริเวณอ่าวไทยตอนบนในวันนี้ (8 ต.ค. 63) โดยพื้นที่ที่จะต้องเฝ้าระวังจากอิทธิพลของร่อง อยู่บริเวณ จ.ตรัง สตูล พังงา ภูเก็ต สระแก้ว จันทบุรี ศรีสะเกษ อุทัยธานี ระนอง ตาก ราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี และสุรินทร์ ซึ่งกอนช.จะมีการติดตามประเมินปริมาณฝนที่อาจจะกระทบในบางพื้นที่ได้ในช่วงวันที่ 8-10 ต.ค.63 แต่เนื่องจากมีความแปรปรวนของสภาพอากาศจากปัจจัยความกดอากาศสูงบริเวณประเทศจีนจึงจะต้องมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป