“ปีะพัฒน์” ชี้มาตรการพัฒนาภาคเกษตรไทยยุคโควิด รัฐต้องทำงานเชิงรุก เกษตรกรต้องปรับตัว

  •  
  •  
  •  
  •  

 

ประธานสภาเกษตรกรฯ เสนอมาตรการรับมือวิกฤตโควิด-19 ด้านการเกษตรทั้งระยะกลางและระยะยาวต่อที่ประชุมสภาพัฒน์ฯ แนะให้ตั้งทีมคิดวิเคราะห์สถานการณ์ด้านพืชและสัตว์เศรษฐกิจของประเทศ เพื่อวางแนวทางในการบริหารจัดการ  ชี้แนวทางการพัฒนาภาคเกษตรกไทย หากต้องการเห็นการผลิตที่ยั่งยืน ปัญหาภาคการเกษตรยุติลงต้องทำงานเชิงรุกให้เกษตรกรได้ปรับตัว พร้อมให้จัดตั้งกองทุนปรับโครงสร้างการผลิต โดยรัฐบาลเป็นเจ้าของโครงการ

      นายประพัฒน์  ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า การประชุมคณะอนุกรรมการวิเคราะห์และสนับสนุนเศรษฐกิจรายสาขา ณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ว่าด้วยเรื่องของการวิเคราะห์และแนวทางในการเยียวยาผลกระทบกรณีโควิดรายสาขา ที่ตนอยู่ในส่วนสาขาภาคเกษตร ซึ่งต้องขอขอบคุณรัฐบาลที่ได้กรุณาฟังเสียงเกษตรกรจัดงบประมาณช่วยเหลือเยียวยาถึงแม้ยามนี้ค่าใช้จ่ายในครัวเรือนยังลำบากอยู่

      นายประพัฒน์ กล่าวอีกว่า การช่วยเหลือในระยะสั้นของรัฐบาลถือว่าผ่าน แต่ก็อยากเห็นมาตรการความช่วยเหลือระยะกลางและระยะยาวด้วย จึงได้เสนอในที่ประชุมถึงมาตรการรับมือวิกฤตโรคระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยเฉพาะ ด้านการเกษตร คือ ขอให้ตั้งทีมคิดวิเคราะห์สถานการณ์ด้านพืชและสัตว์เศรษฐกิจของประเทศ

      ทั้งนี้เพื่อวางแนวทางในการบริหารจัดการและเพื่อการตัดสินใจของเกษตรกรทั้งระยะสั้นและระยะยาวรวมถึงสื่อสารให้เกษตรกรได้ปรับตัว  และมาตรการช่วยเหลือด้านหนี้สินเกษตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนี้จากการกู้เพื่อซื้อเครื่องจักรกลทางการเกษตรซึ่งรัฐบาลได้กรุณาเจรจากับเจ้าหนี้ไฟแนนซ์ผ่อนผันให้ 3 เดือน ซึ่งบัดนี้หมดเวลาแล้ว     ฉะนั้นหากจะขอให้ช่วยผ่อนปรนไปจนถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวเพื่อให้เกษตรกรได้ผ่อนชำระต่อไป

     “ภาคราชการต้องทำงานในเชิงรุก ด้วยการเข้าไปช่วยเกษตรกร/ประชาชนในรายครัวเรือน เพื่อแก้ไขปัญหาที่มีความหลากหลาย ซึ่งมองว่าการตั้งรับไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาจากสถานการณ์ปัจจุบัน  และ จัดตั้งกองทุนปรับโครงสร้างการผลิต งบประมาณ 50,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลเป็นเจ้าของโครงการและสนับสนุนให้เกษตรกรกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำหรือร่วมทุนเพื่อการผลิตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น” นายประพัฒน์ กล่าว

      อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมก็รับว่าจะดำเนินการต่อไปถึงแม้จะยากในข้อเสนอต่างๆแต่หากต้องการเห็นการปรับเปลี่ยนการผลิตที่ยั่งยืนขึ้น และปัญหาภาคการเกษตรยุติลง เกษตรกรสามารถยังชีพพึ่งตัวเองได้ในที่สุด โดยเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รับปากว่าจะผลักดันข้อเสนอดังกล่าวให้ต่อไป