อนิสงค์จากอิทธิพลของพายุโซร้อน “โนอึล” ทำให้มีฝนตกช่วงวันที่ 18-21 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีฝนตกกระจายในพื้นที่อีสานกลาง 5 จังหวัด “ขอนแก่น- มหาสารคาม-กาฬสินธิ์-ร้อยเอ็ด-ชัยภูมิ” ส่งผลทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำในพื้นที่กว่า 150 ล้าน ลบ.ม.คาดอีก 3 วัน จะมีน้ำเพิ่มขึ้นรวมกันแล้วอาจถึง 300 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่พื้นที่การเกษตรเสียหายราว 13,400 ไร่
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากอิทธิพลของพายุ “โนอึล” ส่งผลทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ภาคอีสานกลางเพิ่มมากขึ้น อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 3 แห่ง มีน้ำไหลเข้าสะสม ดังนี้ เขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ 24 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ 28 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น 27 ล้าน ลบ.ม. ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 69 แห่ง มีปริมาณน้ำไหลเข้าสะสมรวมกันประมาณ 75 ล้าน ลบ.ม. รวมปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯขนาดใหญ่และขนาดกลางประมาณ 154 ล้าน ลบ.ม. คาดการณ์ว่าภายในสัปดาห์นี้จะมีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำรวมกันประมาณ 200-300 ล้าน ลบ.ม.
สำหรับเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น คาดการณ์ว่าพายุ “โนอึล” จะทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯประมาณ 100-150 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีน้ำไหลลงอ่างฯสะสมประมาณ 27 ล้าน ลบ.ม. และยังมีน้ำที่ล้นตลิ่งอยู่บริเวณต้นลำน้ำพองที่บ้านผานกเค้า อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย ไหลลงมาเพิ่มอีก คาดว่าจะใช้เวลา 3-7 วันน้ำจะเดินทางมาถึงเขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งจะส่งผลให้น้ำใช้การของเขื่อนอุบลรัตน์เพิ่มขึ้น
ส่วนด้านผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ต่างๆ นั้น พบว่าพายุ โนอึล ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำในพื้นที่จังหวัดต่างๆ อาทิ จังหวัดชัยภูมิ บริเวณลุ่มน้ำชีตอนบน ลุ่มน้ำลำปะทาว และท้ายอ่างเก็บน้ำลำคันฉู พื้นที่ลุ่มต่ำลำน้ำเชิญ ในเขตอำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น และพื้นที่ลุ่มต่ำลำน้ำยัง ในเขตอำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด มีน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ ทำให้พื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วมขังรวมประมาณ 13,400 ไร่ สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้เร่งให้ความช่วยเหลือ โดยการนำเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดันน้ำเข้าไปติดตั้งเพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ต่างๆแล้ว
นอกจากนี้ ยังได้บริหารจัดการน้ำโดยใช้อาคารชลประทานเพื่อกักเก็บและระบายน้ำผันเข้าไปเก็บกักไว้ในแก้มลิงและแหล่งน้ำธรรมชาติสำรองไว้ใช้ฤดูแล้งหน้าที่กำลังจะมาถึง อย่างไรก็ตาม หากไม่มีฝนตกหนักลงมาเพิ่มเติม สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำต่างๆ จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติภายใน 3-4 วันนี้
อย่างไรก็ตาม กรมชลประทน โดยสำนักงานชลประทานที่ 6 ได้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง โดยได้วางระบบการบริหารจัดการลุ่มน้ำชี-มูล แบบอัจฉริยะ แจ้งเตือนภัยทันทีที่เกิดวิกฤต รวมถึงได้บูรณาการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที