“เฉลิมชัย” ยืนยัน แม้น้ำจะมีน้อย แต่ไม่ขาดแคลนแน่นอน กรมชลฯสั่งรับมือฝนระลอกใหม่ 18-19 ก.ย.นี้

  •  
  •  
  •  
  •  

“เฉลิมชัย”  นั่งหัวโต๊ะ ถกแนวโน้มสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำ ปี 2563/64 มอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการน้ำตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ยืนยันแม้น้ำมีปริมาณน้อย แต่ไม่ขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคอย่างแน่นอน ส่วนภาคการเกษตรจะพิจารณาเป็นกรณี ขณะที่กรมชลฯเตรียมรับมือฝนระลอกใหม่ ระหว่างวันที่ 18 – 19 กันยายน 2563 นี้ เผยตัวเลขล่าสุดปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศรวมกันประมาณ 36,764 ล้าน ลบ.ม. หรือ 48 % ของความจุอ่างรวมกัน แต่ใช้การได้เพียง 12,946 ล้าน ลบ.ม.

       นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมติดตามแนวโน้มสถานการณ์น้ำและแถลงข่าวการบริหารจัดการน้ำ ปี 2563/64 ณ ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน ถนนสามเสน ว่า จากรายงานผลการดำเนินงานของทุกภาคส่วน ทำให้ทราบว่าจะมีปริมาณน้ำต้นทุนน้อยกว่าปีที่แล้ว จึงได้สั่งการให้บริหารตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ โดยจะต้องคำนึงถึงการอุปโภคบริโภคเป็นอันดับแรก และในส่วนของภาคการเกษตร ที่สามารถทำการเกษตรได้ จะให้ดำเนินการ แต่ในพื้นที่ที่ยังมีปัญหาเรื่องน้ำ จะให้กรมส่งเสริมการเกษตรเข้าไปช่วยดูแล ให้คำแนะในการปลูกพืชใช้น้ำน้อย

        อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจากการคาดการว่าจะที่ปริมาณน้ำน้อย ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีน้ำใช้ เพราะจากการคำนวนจากพื้นที่เก็บกักน้ำและเทียบสถิติในปีที่ผ่านมา รวมถึงการบริหารจัดการ จึงยืนยันได้ว่าน้ำเพื่ออุปโภคไม่ขาดแคลนอย่างแน่นอน ส่วนน้ำในภาคการเกษตรจะดูตามความเหมาะสมต่อไป ส่วนพายุโนอึลที่จะเข้าในประเทศไทยจะสามารถเพิ่มน้ำต้นทุนได้ โดยเฉพาะภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคกลางตอนบน โดยจะต้องมีการเฝ้าระวังทุกพื้นที่ ซึ่งเชื่อว่าพายุที่จะเข้านี้ได้ประโยชน์ต่อเนื่อง โดยจะทำให้มีน้ำกักเก็บ รวมถึงได้ส่งเสริมทั้งภาคเกษตรและการท่องเที่ยวอีกด้วย

      ด้านนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาว่า ในช่วงวันที่ 18 – 19 กันยายน 2563 หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชั่น และจะเคลื่อนตัวเข้าใกล้อ่าวตังเกี๋ยและชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน ส่งผลให้บริเวณประเทศไทยตอนบน มีฝนตกเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก

      ดังนั้นจึงได้สั่งการให้โครงการชลประทานทุกแห่ง เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ที่อาจมีผลกระทบต่อพื้นที่ทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน พร้อมปฏิบัติตามแนวทางการบริหารจัดการน้ำหลาก ด้วยการกำหนดพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย กำหนดคนผู้รับผิดชอบในพื้นที่ต่างๆ วิเคราะห์ ติดตาม สถานการณ์น้ำ รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานระดับท้องถิ่น เพื่อให้สามารถเข้าช่วยเหลือพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที กำหนดเครื่องจักรเครื่องมือ อาทิ รถขุด รถแทรกเตอร์ เครื่องสูบน้ำ พร้อมใช้งานเข้าประจำจุดเสี่ยงทั่วประเทศ รวมทั้งกำชับเจ้าหน้าที่ให้คอยติดตาม ตรวจสอบสภาพความปลอดภัยเขื่อน อ่างเก็บน้ำ ประตูระบายน้ำ อาคารชลประทาน ให้มีสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา

        ส่วนปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำยังคงมีปริมาณจำกัด ปัจจุบัน (16 ก.ย.63) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และกลางทั่วประเทศ มีปริมาณรวมกันประมาณ 36,764 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 48 ของความจุอ่างรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 12,946 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 10,152 ล้าน ลบ.ม หรือร้อยละ 41 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 3,456 ล้าน ลบ.ม. 

        ขณะที่นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า ได้มีการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเติมน้ำต้นทุนในเขื่อนกักเก็บน้ำและป้องกันและแก้ไขภัยแล้ง โดยได้มีการปรับแผนร่วมกับกรมชลประทานทุกเดือน ปัจจุบันมีหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 12 หน่วย ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคใต้ มีผลปฏิบัติการฝนหลวง ระหว่างวันที่ 3 กุมภาพันธ์ – 14 กันยายน 2563 มีวันขึ้นปฏิบัติการรวม 208 วัน มีวันฝนตกจากการปฏิบัติการ รวม 206 วัน คิดเป็นร้อยละ 99.04 จังหวัดที่มีรายงานฝนตก รวม 67 จังหวัด ทำให้มีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติการฝนหลวง 196.88 ล้านไร่ มีฝนตกในพื้นที่ลุ่มน้ำรับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ รวม 214 แห่ง (เขื่อนขนาดใหญ่ 34 แห่ง ขนาดกลาง 180 แห่ง) สามารถเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ รวม 2,570.884 ล้าน ลบ.ม.