ครม.ไฟเขียวงบกลางกว่า 5 พันล้านป้องน้ำท่วม-เก็บน้ำรับแล้ง พ่วงแผนฟื้นฟูหนองหาร

  •  
  •  
  •  
  •  

                                                                              ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติแผนรับมืองบกลางกว่า 5,082 ล้านบาท ป้องน้ำท่วมในพื้นที่เสี่ยงควบเก็บกักน้ำฝนนี้ใช้แล้งหน้า พร้อมเห็นชอบฟื้นฟูหนองหาร จ.สกลนคร ด้าน กอนช.นัดถกด่วนเฝ้าจับตาสถานการณ์พายุลูกล่าสุดเพื่อเตรียมแผนรับมือ

          ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ (15 ก.ย.63) มีมติเห็นชอบแผนเตรียมการรับมือ แก้ไข และบรรเทาปัญหาน้ำท่วมเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำในฤดูฝน เพื่อสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง ปี 63/64 รวมทั้งสามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ดำเนินการภายใต้ 3 กระทรวงหลัก โดย 5 หน่วยงานและ 30 จังหวัด รวม 1,825 โครงการ วงเงินประมาณ 5,082 ล้านบาท ตามที่ สทนช.ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติเสนอ โดยได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อ โดยได้ดำเนินการสำรวจ ตรวจสอบแผนงาน/โครงการเร่งด่วนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นประเภทโครงการที่เพิ่มพื้นที่เก็กกักน้ำเพิ่มขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ รวมถึงครุภัณฑ์เครื่องจักรเครื่องมือเพิ่มเติม เพื่อสร้างความพร้อมให้กับหน่วยปฏิบัติในระดับพื้นที่เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงที ประกอบด้วย

     1. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวม 3 โครงการ ได้แก่ การพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อเกษตรแปลงใหญ่  66 แห่ง การพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพระบบกระจายน้ำและปรับปรุงแหล่งน้ำ 142 แห่ง และรจัดหาเครื่องจักรกลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ 2. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 3 โครงการ ดำเนินการโดยกรมชลประทาน ได้แก่ โครงการพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำชลประทาน จำนวน 36 แห่ง  การจัดหาเรือขุดใช้งานชลประทาน และรถขุดแบบโป๊ะเหล็ก แบบติดตั้งปั๊มขุด-ดูดเลน  3.กระทรวงมหาดไทย 3 โครงการ ได้แก่ โครงการธนาคารน้ำใต้ดิน 65 แห่ง โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น การจัดหาเครื่องดูดตะกอนดินและเครื่องแยกตะกอนดินเลนพร้อมอุปกรณ์ โดยกรุงเทพมหานคร และการบรรเทาปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม ดำเนินการโดยจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมทั่วประเทศ 1,498 แห่ง

        เนื่องจากในห้วงฤดูฝนที่ยังเหลืออีกประมาณ 2 เดือน ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตาม 8 มาตรการ เตรียมความพร้อมรองรับน้ำฝน ปี 2563 ซึ่งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติคาดการณ์ล่าสุด (ข้อมูล ณ 9 ก.ย.63) พบว่า ในเดือนกันยายน 2563 พื้นที่เฝ้าระวัง 42 จังหวัด 170 อำเภอ 479 ตำบล ดังนั้น สทนช.จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการแผนงานโครงการข้างต้นตามพื้นที่เป้าหมายให้แล้วเสร็จโดยเร็วให้สามารถรับมือ บรรเทาปัญหาน้ำท่วม และเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำในฤดูฝน ปี2563 เพื่อเป็นการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน และทำให้การบริหารจัดการน้ำสามารถดำเนินการได้ตาม 8 มาตรการตามที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที รวมถึงติดตามสถานการณ์ปริมาณฝน ปริมาณน้ำในลำน้ำ ในอ่างเก็บน้ำ การเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมน้ำหลากอย่างใกล้ชิด

     อย่างไรก็ตามในวันนี้ (15 ก.ย.63) คณะทำงานด้านประเมินสถานการณ์ กอนช.มีการประชุมเพื่อประเมินแนวโน้มผลกระทบของพายุลูกล่าสุดที่อาจจะมีผลระทบกับประเทศไทยในช่วงวันที่ 18 – 20 ก.ย.นี้ เพื่อซักซ้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมแผนเผชิญเหตุ เครื่องจักรเครื่องมือ บุคคลากรพร้อมรับมือป้องกันผลกระทบในพื้นที่เสี่ยง รวมถึงเร่งแผนการเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ เพื่อสำรองไว้ในฤดูแล้งที่จะถึงนี้ให้มากที่สุดพร้อมกัน ซึ่ง กอนช.จะมีการหารืออีกครั้งในวันศุกร์ที่ 18 ก.ย.นี้ด้วย

        ดร.สมเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมกว่า นอกจากนี้ที่ประชุมครม.มีมติเห็นชอบแผนหลักการพัฒนาหนองหาร จังหวัดสกลนคร ระยะ 10 ปี (ปี’63 – 72) รวม 62 โครงการ วงเงิน 7,400 ล้านบาท เพื่อให้หน่วงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการตามแผนหลักและแผนระยะเร่งด่วน โดยแผนหลัก 5 ด้าน ได้แก่

     1. การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค 2.การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ และการเข้าถึงการใช้ประโยชน์จากน้ำในหนองหาร 3.การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย เป้าหมายเพื่อการบรรเทาอุทกภัยทั้งระบบลุ่มน้ำ 4.การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ 5.การบริหารจัดการ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ รวมถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนในการดูแลหนองหาร

     ส่วนแผนงานระยะเร่งด่วน ประกอบด้วย  พัฒนาหนองหาร บริเวณเหนือหนองหารและพื้นที่ต้นน้ำมอบหมายให้จังหวัดสกลนครและกระทรวงมหาดไทย เป็นเจ้าภาพหลักร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการน้ำในหนองหารมอบหมายให้กรมชลประทาน เป็นหน่วยงานหลักบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งมอบหมายให้ สทนช.ร่วมกับสำนักงบประมาณ เป็นหน่วยงานหลักพิจารณาจัดลำดับความสำคัญของโครงการในเป็นไปตามแผนหลักการพัฒนาหนองหารต่อไป และให้สทนช.ร่วมกับจังหวัดสกลนคร ติดตามและขับเคลื่อนแผนหลักการพัฒนาหนองหาร จังหวัดสกลนคร ให้เกิดประสิทธิภาพเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างต่อเนื่องด้วย