“ประวิตร” นำทีมลงพื้นที่ติดตามการพัฒนาฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด สั่ง 6 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งพื้นฟูและพัฒนาบึงบอระเพ็ดเพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการน้ำรูปแบบแก้มลิง เพื่อเป็นแหล่งน้ำสำรองใช้ในการอุปโภคบริโภค รักษาทรัพยากรธรรมชาติภาย และเป็นแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงเพื่อการเกษตร เผยมีบางส่วนที่กรมส่งเสริมการเกษตรจะเข้ามาดำเนินการกำหนดชนิดของพืชที่ควรเพาะปลูกตามความเหมาะสมด้วย
เมื่อเวลา 09.00 วันที่ 11กันยายน 2563 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ติดตามการพัฒนาฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ โดยมี นายอรรถพร สิงหวิชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวต้อนรับ ณ ห้องประชุมเสือพ่นน้ำ จ.นครสวรรค์ และ ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) รายงานแผนหลักการพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงาน ปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ดในความรับผิดชอบ อาทิ กรมประมง กรมธนารักษ์ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จากนั้นรองนายกรัฐมนตรีเดินทางเข้าอาคารเอนกประสงค์สัมมนาบึงบอระเพ็ด เพื่อทำพิธีมอบสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุให้กับผู้แทนราษฎรที่อยู่อาศัยและทำการเกษตรในเขต“ให้”ของบึงบอระเพ็ด ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการเร่งด่วนตามแผนหลักฯ ของรัฐบาลภายใต้โครงการ“ธนารักษ์ประชารัฐ”และลงพื้นที่ดูสภาพพื้นที่โดยรอบบึงบอระเพ็ด
พลเอกประวิตร กล่าวว่า ปัญหาบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรค์ ที่เรื้อรังมานาน จึงได้สั่งการให้ 6 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กรมประมง กรมธนารักษ์ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำและกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เร่งพื้นฟูและพัฒนาบึงบอระเพ็ดเพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการน้ำรูปแบบแก้มลิง เพื่อเป็นแหล่งน้ำสำรองใช้ในการอุปโภคบริโภค รักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในบึง เป็นแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงเพื่อการเกษตรบางส่วนที่กรมส่งเสริมการเกษตรจะเข้ามาดำเนินการกำหนดชนิดของพืชที่ควรเพาะปลูกตามความเหมาะสมด้วย
ทั้งนี้ จากรายงานผลการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงาน พบว่า ได้มีการระดมความร่วมมือสามารถผลักดันแผนหลักและการดำเนินการพัฒนาฟื้นฟูบึงบอระเพ็ดมีความก้าวหน้าตามแผน แต่ก็ต้องเร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาสัมฤทธิ์ผลโดยเร็ว ทำให้บึงบอระเพ็ดกลับมาเป็นแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สามารถเก็บน้ำได้เต็มพื้นที่ ซึ่งทุกหน่วยงานขับเคลื่อนแผนงานที่ได้วางไว้ไปสู่การปฏิบัติให้ได้จริงตามที่กำหนดไว้ โดยมี สทนช.คอยทำหน้าที่กำกับ เร่งรัด การดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมาย และกรมชลประทานและกรมประมง ร่วมกันบริหารจัดการน้ำบึงบอระเพ็ดให้มีประสิทธิภาพ ส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กำหนดรูปแบบการเพาะปลูกและควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินรวม ตามที่กรมธนารักษ์กำหนดไว้ ในขณะที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาร่วมกับจังหวัดนครสวรรค์ กำหนดแนวทางเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวขอให้ทุกหน่วยงาน ช่วยกันแก้ไขปัญหาที่เรื้อรังมานาน ให้บึงบอระเพ็ดมีความอุดมสมบูรณ์ ทัศนียภาพสวยงาม เกิดประโยชน์กับชาวนครสวรรค์และประชาชนโดยทั่วไป เพื่อเป็นตัวอย่างและขยายผลความสำเร็จไปยังบึงอื่นๆ ต่อไป
ด้าน ดร.สมเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามที่ สทนช.ได้เสนอคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2562 เห็นชอบแผนหลักการพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด 6 ด้าน ระยะ 10 ปี (ปี’63 – 72) มีทั้งสิ้น 56 โครงการ วงเงินประมาณ 5,700 ล้านบาท เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะส่งผลทำให้น้ำต้นทุนเพิ่มประมาณ 67 ล้าน ลบ.ม. ลดความเสียหายจากน้ำท่วม 21,000 ไร่ ช่วยพื้นที่ภัยแล้ง 85,000 ไร่ นั้น สทนช.จะมีการติดตามความก้าวหน้าตามแผนปฏิบัติการโครงการเร่งด่วน 9 โครงการ ปี’63-65 ทั้ง 3 ด้านอย่างใกล้ชิดเพื่อติดตามประเมินผลให้เป็นไปตามแผนหลักฯ โดยเร็ว ได้แก่ 1.แผนงานแก้ปัญหาบุกรุกและการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ “ให้ หวง ห้าม” ปรับเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในบึง และปรับปฏิทินปลูกพืช 2.แผนงานแก้ปัญหาตะกอนตื้นเขินและเพิ่มปริมาณน้ำ และ 3.แผนงานแก้ปัญหาน้ำท่วม – น้ำแล้ง อาทิ การปรับปรุง ปตร.ปากคลองบอระเพ็ด ปรับปรุง ปตร.คลองบางปอง ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดเสนอแผนงานโครงการผ่านคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด เพื่อตั้งของบประมาณในปี 2565 ซึ่งจะส่งผลให้การพัฒนาบึงฯ ตามแผนหลักการพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ดเกิดความต่อเนื่องและเป็นรูปธรรมโดยเร็ว