เตรียมเสนอรัฐบาลเร่งแผนหลักลุ่มน้ำยมเพิ่มจุดเก็บน้ำ-ชะลอน้ำตอนบน ตัดยอดน้ำหลาก

  •  
  •  
  •  
  •  

                                                                              ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์

สทนช. เด้งรับลูกนายกฯ กางแผนหลักลุ่มน้ำยม ผ่าทางตันแก้ท่วมซ้ำซากเบ็ดเสร็จ ต้องเพิ่มจุดเก็บกักน้ำ-ชะลอน้ำเพิ่ม ก่อนลงพื้นที่ตอนล่างเร่งด่วน เผยเป้าหมายแผนหลักลุ่มน้ำยม 20 ปี สามารถพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำตอนบน – ตอนกลาง 800 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ชะลอน้ำตอนล่าง 833 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 253,630 ไร่ และลดปัญหาน้ำท่วมได้ 54,159 ไร่

     ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงต้นเดือนสิงหาคม ประเทศไทยได้รับผลกระทบปริมาณฝนที่ตกหนักมากในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจากพายุโซนร้อน “ซินลากู” พายุโซนร้อน “ฮีโกส” และอิทธิพลของร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้มีพื้นที่น้ำท่วมรวม 20 จังหวัด นอกจากนี้ยังส่งผลให้ระดับน้ำแม่น้ำโขงตั้งแต่จังหวัดเชียงรายถึงจังหวัดอุบลราชธานี มีระดับน้ำผันผวนโดยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน

       สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมแม่น้ำยมขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือเพื่อลดผลกระทบประชาชนโดยเร่งด่วน เพื่อให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ปัจจุบันพื้นที่ จังหวัดสุโขทัย เลยจุดสูงสุดของระดับน้ำแล้ว และจะลดลงตามลำดับ กอนช.ประเมินปริมาณน้ำหลากในเหตุการณ์ครั้งนี้ มีทั้งหมด 384 ล้าน ลบ.ม. ไหลผ่านไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ คงค้าง และอยู่ในระหว่างเร่งระบายในพื้นที่อีกประมาณ 80 ล้าน ลบ.ม.ขณะที่แม่น้ำเจ้าพระยาที่ยังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำส่วนหนึ่งอีกด้วย        และผันน้ำผ่านคลองชัยนาท-ป่าสัก คลองระพีพัฒน์ไปยังสถานีสูบน้ำคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต เพื่อสูบน้ำส่งไปเก็บในอ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี

      อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีมีข้อห่วงใยต่อการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำยมอย่างเบ็ดเสร็จ โดยสั่งการให้ สทนช.เตรียมแผนแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งลุ่มน้ำยมทั้งระบบ โดยเฉพาะการเพิ่มจุดเก็บกักน้ำ และชะลอน้ำทุกรูปแบบในพื้นที่ต้นน้ำเพื่อลดผลกระทบน้ำท่วมและเก็บกักน้ำไว้ในฤดูแล้ง ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พัฒนาแหล่งน้ำตามแผนหลักลุ่มน้ำยม (ปี 2564 – 2580) มาอย่างต่อเนื่อง

       ปัจจุบันได้มีแผนหลักดำเนินการเป็น 3 ส่วนหลัก คือ ยมตอนบน ตอนกลาง และตอนล่าง โดยลุ่มน้ำยมตอนบนระยะเร่งด่วนเริ่มดำเนินปี’64 ได้แก่ อนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำและติดตั้งระบบเตือนภัย ระยะสั้น เริ่มปี’65-66 ได้แก่ พัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมถึงแหล่งน้ำตามแนวคิด “สะเอียบโมเดล” ยมตอนกลาง ระยะเร่งด่วน เริ่มปี’64 ได้แก่ การจัดการจราจรน้ำและปรับปรุงลำน้ำที่ตื้นเขิน ระยะสั้นเริ่มปี 65-70 ได้แก่ พัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำในลำน้ำสาขา และเพิ่มความจุแหล่งน้ำเดิม ระยะยาว (หลังปี 70) ได้แก่ พัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำในลำน้ำยม ซึ่งต้องผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็น และความต้องการของประชาชนในพื้นที่มาพิจารณาด้วย ในลุ่มน้ำยมตอนล่าง ระยะเร่งด่วน เริ่มปี 64 ได้แก่ การพัฒนาอาคารบังคับน้ำในลำน้ำยม อยู่ระหว่างก่อสร้าง 3 แห่ง โดยมีแผนดำเนินการในอนาคตอีก 7 แห่ง จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 11 แห่ง และ ระบบผันน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพระบายน้ำ ได้แก่ โครงการคลองผันน้ำยมน่าน ระยะกลาง เริ่มดำเนินการปี’66 ได้แก่ พัฒนาพื้นที่ลุ่มต่ำเหนือจังหวัดนครสวรรค์

      ดร.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า ลุ่มน้ำยม มีน้ำฝนเฉลี่ย 1,369 มิลลิเมตร ปริมาณน้ำท่า 6,715 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี ประสบปัญหาท่วมแล้ง โดยมีพื้นที่ท่วมซ้ำซากคิดเป็นปริมาณน้ำกว่า 2,021 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่ในช่วงฤดูแล้งขาดแคลนน้ำประมาณ 1,875 ล้าน ลบ.ม.       โดยเป้าหมายแผนหลักลุ่มน้ำยม 20 ปี สามารถพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำตอนบน – ตอนกลาง 800 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ชะลอน้ำตอนล่าง 833 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 253,630 ไร่ และลดปัญหาน้ำท่วมได้ 54,159 ไร่  ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้พัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วงช่วง 3 ปีที่ผ่านมาดำเนินการแล้ว 697 โครงการ เก็บกักน้ำได้ 68 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 1.4 แสนไร่ โดยมีโครงการสำคัญ อาทิ อ่างเก็บน้ำน้ำปี้ (พรด) จ.พะเยา อ่างเก็บน้ำแม่อ้อน 2 (พรด) จ.ลำปาง อ่างเก็บน้ำ แม่แคม (พรด) จ.แพร่ ปตร.ท่านางงาม จ.พิษณุโลก ปตร.ท่าแห จ.พิจิตร ปตร.บ้านวังจิก จ.พิจิตร การเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นทุ่งบางระกำ ปี 2563 จำนวน 500 แห่ง ได้น้ำรวม 24 ล้าน ลบ.ม. และโครงการบางระกำโมเดล

      “ขณะที่แผนงานโครงการสำคัญที่จะเริ่มดำเนินได้ภายในปี 2566 มีทั้งสิ้น 36 โครงการ ที่สามารถเพิ่มความจุได้ 116 ล้าน ลบ.ม. แก้มลิงชะลอน้ำ 833 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 1.67 แสนไร่ 26,949 ครัวเรือน โดยทำควบคู่ไปกับการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนบน-กลาง ได้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นอีก 234 ล้าน ลบ.ม. รวมถึงเร่งผลักดันแผนการพัฒนาพื้นที่รับน้ำ ชะลอน้ำในลำน้ำยมตอนบนให้ได้โดยเร็วตามแผนหลักฯ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบปริมาณน้ำส่วนเกินก่อนไหลลงสู่พื้นที่จังหวัดสุโขทัยซึ่งเป็นพื้นที่ท่วมซ้ำซากให้ไม่ประสบปัญหาอย่างในปัจจุบัน” ดร.สมเกียรติ กล่าว