ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์
“ประวิตร” มอบกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เร่งช่วยเหลือเกษตรกรชาว อ.สวงหา จ.อ่างทอง ประสบปัญหาภัยแล้ง ล่าสุดชลประทานเพิ่มการผันน้ำจากแม่น้ำน้อยบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นแล้ว
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า ตามที่เกษตรกรตำบลบ้านพราน อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง ในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชัณสูตร ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร และขอให้ภาครัฐให้ความช่วยเหลือ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้รับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นและมีความห่วงใยเกษตรกรในพื้นที่ จึงได้มอบหมายให้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติประสานกรมชลประทานให้ความช่วยเหลือเกษตรกรภายในวันนี้ (14 กรกฏาคม 2563)
ทางกรมชลประทานจึงได้วางแผนบริหารจัดการน้ำแบบหมุนเวียนโดยการเพิ่มปริมาณน้ำเข้าแม่น้ำน้อยจากเดิมในอัตรา 10 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 20 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และจะยังคงรับน้ำจากคลองชัยนาท-ป่าสัก และแม่น้ำท่าจีน ในอัตรา 15 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ช่วยเหลือพื้นที่นาปีที่ได้ปลูกข้าวไปแล้วในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา จำนวน 2.63 ล้านไร่ ซึ่งรวมถึงพื้นที่บริเวณจังหวัดอ่างทองด้วย เพื่อบรรเทาภาวะขาดแคลนน้ำที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม กรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. คาดการณ์แนวโน้มฝนจะเพิ่มขึ้นในกลางเดือนนี้ไปจนถึงเดือนกันยายน ซึ่งจะส่งผลให้สถานการณ์การขาดแคลนน้ำในพื้นที่เริ่มคลี่คลาย อีกทั้งเกษตรกรในพื้นที่ทุ่งเจ้าพระยาที่ยังไม่ได้เพาะปลูกข้าวนาปีอีก 5.47 ล้านไร่ ก็จะสามารถทำการเพาะปลูกได้ตามลำดับด้วย
ทั้งนี้ กองอำนวยน้ำแห่งชาติ (กอนช.) มีการติดตามประเมินสถานการณ์ สภาพอากาศ แนวโน้มฝน ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำในช่วงฤดูฝน พร้อมทบทวนมาตรการป้องกัน ความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือพื้นที่เสี่ยงอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่วันที่ 15 กรกฏาคมเป็นต้นไป หน่วยงานที่เป็นคณะทำงานภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติจะเข้าปฏิบัติหน้าที่ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ อาคารจุฑามาศ เขตหลักสี่ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ และร่วมกันปฏิบัติงานอย่างใกล้ชิด
สำหรับในส่วนของการวางแผนการเก็บน้ำต้นทุนในแหล่งน้ำต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุดเพื่อเป็นปริมาณน้ำสำรองในฤดูแล้งปีหน้านั้น กองอำนวยการน้ำแห่งชาติได้มอบหมายให้กรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สำรวจตรวจสอบอุปสรรคที่ทำให้น้ำไม่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ รวมถึงเสนอแนวทางการดึงน้ำ จูงน้ำ และหาแนวทางการเก็บกักน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ให้ได้มากที่สุดในช่วง 1-2 เดือนนี้ โดยจะมีการจัดประชุมสรุปแนวทางการดำเนินการอีกครั้งในปลายเดือนกรกฎาคมนี้