สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์
“สนธิรัตน์” เดินหน้าต่อ ช่วยแบ่งเบาภาระประชาชนคนไทยหลังโควิดคลี่คลายทั้งแผ่นดิน เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวมาถกหาแนวทางช่วยเหลือด้านพลังงาน ผลสรุป กบง. เคาะแล้ว 3 มาตราการ ให้ดีเดย์ทันที 17 มิ.ย.นี้ ปรับเกณฑ์ราคาหน้าโรงกลั่นใหม่ลดลงลิตรละ 50 สตางค์ พลิกโฉมโครงสร้างราคา NGV หันมาคิดต้นทุนอ้างอิงตามราคาดีเซลที่ต่ำลง ส่งผลราคาถูกลงถึง 3 บาท ชง พร้อมขยายเวลาลเก๊าซหุงต้มออกไปอีก 3 เดือน
วันที่ 15 มิถุนายน 2563 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ว่า ที่ประชุม กบง. ได้มีมติเห็นชอบเรื่องสำคัญๆ 3 มาตรการหลักประกอบด้วย
1.เห็นชอบหลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงตามเกณฑ์ใหม่แล้ว ซึ่งจะส่งผลต่อราคาหน้าโรงกลั่นลดลงเฉลี่ย 0.50 บาทต่อลิตร ราคาขายปลีกลดลงได้เฉลี่ย 0.50 บาทต่อลิตร ตามประเภทต้นทุนของแต่ละชนิดเชื้อเพลิง โดยจะให้เริ่มใช้ในวันที่ 17 มิถุนายน 2563
สำหรับข้อกังวลของโรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีต่อค่าการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันนั้น กระทรวงพลังงานรับทราบแล้ว และให้ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ร่วมกับ กรมธุรกิจพลังงาน นำไปพิจารณาเพื่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และให้นำมาเสนอ กบง. พิจารณาในโอกาสต่อไป
ทั้งนี้ ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศไทยนั้นเป็นการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม กระทรวงพลังงานไม่ได้กำหนดราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงหน้าสถานีบริการ ซึ่งผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิง แต่ละแต่ละยี่ห้อแต่ละสถานีบริการจะปรับราคาขึ้นหรือลงตามการแข่งขันอย่างเสรี กระทรวงพลังงานเพียงจัดทำโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นเพื่อไว้ประเมินราคาที่ควรจะเป็น ณ เวลานั้นๆ มีไว้อ้างอิง เปรียบเทียบ ไม่มีผลบังคับกับผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงแต่อย่างใด
ขณะที่ราคาน้ำมันของตลาดโลกมีการเปลี่ยนแปลงปรับขึ้นหรือลงทุกวัน ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงหน้าสถานีบริการของประเทศไทยไม่ได้เปลี่ยนแปลงทุกวัน กระทรวงพลังงานจะติดตามความเหมาะสมโดยมี “ค่าการตลาด” หรือประมาณการกำไรขั้นต้นก่อนหักค่าใช้จ่ายระหว่างผู้ค้าน้ำมันและเจ้าของสถานีบริการแต่ละยี่ห้อไว้ในโครงสร้าง ซึ่งค่าการตลาดที่ กบง. เคยเห็นชอบไว้ที่อัตราเฉลี่ย 1.85 บาทต่อลิตร เป็นค่าการตลาดเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของน้ำมันทุกชนิดในภาพรวม ไม่ใช่พิจารณารายผลิตภัณฑ์ และจะมีความยืดหยุ่น +/- 0.40 บาทต่อลิตร หรือค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยจะอยู่ในช่วง 1.45 – 2.25 บาทต่อลิตร
2.เห็นชอบการแบ่งเบาภาระประชาชนด้วยการขยายเวลามาตรการช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบต่อค่าครองชีพจากการแพร่ระบาดของวัสโควิด-19 โดยลดการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื่อเพลิงส่วนบัญชี LPG จากเดิมจะสิ้นสุดวันที่ 24 มิ.ย. นี้ออกไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 63 ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถซื้อก๊าซหุงต้ม LPG ลดลง 3 บาทต่อกิโลกรัม โดยก๊าซหุงต้ม LPG ถังขนาด 15 กิโลกรัม ได้ลดลง 45 บาท จาก 363 บาท เหลือ 318 บาท โดยใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุนเดือนละ 248 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน
พร้อมกันนี้ขอความร่วมมือบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ขยายเวลาการช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มแก่ผู้มีรายได้น้อย กลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอย ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 100 บาท/คน/เดือน ต่อไปจนถึงเดือนกันยายน 2563 และได้ขยายเวลาลดราคาขายปลีก NGV รถโดยสารสาธารณะ (ในเขต กทม./ปริมณฑล: รถแท็กซี่/ตุ๊กตุ๊ก/รถตู้ ร่วม ขสมก. ในต่างจังหวัด: รถโดยสาร/มินิบัส/สองแถว ร่วม ขสมก. รถโดยสาร/รถตู้ ร่วม บขส. และรถแท็กซี่) ที่ปรับลดจาก 13.62 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 10.62 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งจะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ให้ขยายเวลาถึงเดือนกรกฎาคม 2563 ด้วย
3.เห็นชอบการปรับโครงสร้างก๊าซธรรมชาติ NGV เดิมประเทศไทยใช้โครงสร้างต้นทุนบวก หรือ Cost Plus แต่ต่อไปจะใช้โครงสร้างอ้างอิงราคาน้ำมันดีเซล หรือ B10 ที่เป็นน้ำมันพื้นฐานบวกกับค่าขนส่งเป็นเกณฑ์ในนโยบายกำหนดราคาของ NGV ซึ่งจะสอดคล้องกับสถานการณ์ดีเซลที่มีแนวโน้มต่ำลง ซึ่งเมื่อใช้มาตรการอ้างอิงดีเซลจะทำให้เป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด โดยปัจจุบันการคิดต้นทุน NGV จะอยู่ที่ 15.51 บาทต่อกิโลกรัม แต่เมื่อคิดแบบโครงสร้างอ้างอิงราคาน้ำมันดีเซลราคา NGV จะอยู่ที่ 12.80 บาทต่อกิโลกรัม ถูกว่าปัจจุบันประมาณ 3 บาทต่อกิโลกรัม อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับเรื่องนี้จะต้องนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาห็นชอบก่อน
“ถ้าเดินมาตามสูตรคิดราคา NGV ตามการอ้างอิงราคาน้ำมันดีเซล แม้ว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกจะมีการเปลี่ยนแปลงทุกวัน แต่ราคา NGV จะไม่ได้มีการแกว่งไปตามราคาน้ำมันดีเซลแบบรายวัน โดยจะมีการประชุมกันเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การนำไปใช้คิดราคาก่อน” รมว.พลังงาน กล่าว1