“ประพัฒน์”ชี้ชัดวิถีชีวิตเกษตรใหม่หลังโควิด เกษตรกรตัองเปลี่ยน ไม่ปรับปรุงต้องเลิกอาชีพนี้

  •  
  •  
  •  
  •  

ประธานสภาเกษตรกรฯ ชี้ชัดวิถีชีวิตเกษตรใหม่ หลังสถานการณ์โควิด-19 เกษตรกร ตัองปรับตัวสถานเดียว ย้ำปรับเพื่อรอด ต้องปรับปรุงการผลิต ระบุหากไม่ปรับปรุง ไม่เปลี่ยนแปลงจะช้าหรือเร็วต้องเลิกอาชีพเกษตรกร เพราะสู้เขาไม่ได้แน่นอน

      นายประพัฒนฺ์ ปัญญาชาติรักษ์​ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ​ กล่าวในระหว่างการเสวนาทางวิชาการ เรื่อง ‘NEW Normal Agriculture accelerated by the COVID-19 ฐานวิถีชีวิตเกษตรกรใหม่ จากตัวเร่งภายหลังสถานการณ์ COVID-19’​ จัดโดย สำนักงานบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ ห้องประชุมกำพล อดุลวิทย์ ชั้น 2 อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน​ ว่า ก่อนหน้าสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 สภาเกษตรกรแห่งชาติได้มีการเตรียมการมุ่งเน้นให้เกษตรกรปรับตัวมาโดยตลอด เพราะเกษตรกรได้รับผลกระทบจากเรื่อง ภาวะโลกร้อน นโยบายจากภาครัฐที่เปลี่ยนทุกรัฐมนตรี กรอบการค้าเสรี แต่ในทุกสถานการณ์มีผลกระทบไม่รุนแรงและกว้างขวางเท่ากับวิกฤตการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด

      อย่างไรก็ตามภายใต้สถานการณ์นั้นมีทั้งวิกฤตและโอกาส ในมุมของสภาเกษตรกรฯเกษตรกรที่ข้อมูลไม่พอ ปรับตัวไม่ทันเป็นวิกฤตโดยตรงเลย อาทิ กลุ่ม non Food เช่น ยางพารา จีดีพีทั้งโลกหดตัวลงการบริโภคสินค้าเหล่านี้ลดลงทันที รถขายไม่ออกยางก็ขายไม่ออกไปด้วยมีผลกระทบโดยตรงรายได้หดตัวลงและต่อเนื่องยาวนาน

       ปาล์มน้ำมัน ถึงแม้เป็น food Product แต่บางส่วนก็นำไปทำเป็นพลังงาน พอเศรษฐกิจโลกหดตัวลงการใช้พลังงานลดลง ราคาน้ำมันดิบของโลกปรับตัวลดลงจนติดลบก็มี ส่งผลกระทบถึงราคาปาล์มน้ำมันโดยตรง เป็นต้น  

       ส่วนที่เป็นโอกาส ถ้าเกษตรกรปรับตัวทันในสินค้าเกษตรบางตัว เช่น ข้าว หลายประเทศสำรองข้าวเป็นความมั่นคงด้านอาหารไม่ส่งออก ในขณะที่เป็นคู่แข่งกับไทยแต่ก็เก็บสำรองข้าวไว้บริโภคเอง ซัพพลายในโลกก็หาย ประเทศไทยจึงขายข้าวได้มากขึ้น 

        มันสำปะหลัง ถึงแม้จะตีเป็นอาหารสัตว์ แต่ยามนี้สำคัญมากเพราะประเทศจีนสั่งซื้อเพื่อไปหมักทำแอลกอฮอล์ด้วยสถานการณ์ไวรัสแพร่ระบาดทำให้แอลกอฮอล์ขาดตลาดมาก แต่ก็ต้องศึกษาว่าจะผันแปรได้มากน้อยขนาดไหน

         ด้านภาคปศุสัตว์นับเป็นโอกาสมาก สังเกตจากการแพร่ระบาดของไข้หวัดหมูแอฟริกาส่งผลให้ราคาสุกรในประเทศไทยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาก คาดการณ์ว่าราคาไก่ส่งออกก็น่าจะดีขึ้นตามไปด้วยน่าจะฉุดให้ราคาภาคปศุสัตว์เชื่อมโยงต่อๆกันไป ยกเว้นบาง Sector ที่มีผลกระทบมาก เช่น ประมง โดยเฉพาะการเลี้ยงปลาในกระชัง  การเลี้ยงกุ้ง ด้วยตลาดส่งออกถูกปิดเพราะติดปัญหาเรื่องเคอร์ฟิว ระบบขนส่ง  ที่เป็นปัญหาน้อยลงคือ 

         ไม้ผล จะสังเกตเห็นว่าราคาทุเรียนยังดีต่อเนื่องด้วยสภาเกษตรกรฯผลักดันการเจรจาให้เกิดช่องทางในการขนส่งที่มากขึ้นและเร็วขึ้น ส่วนไม้ผลที่มีปัญหาเนื่องจากอายุเก็บรักษาสั้นตอนนี้ เช่น ลิ้นจี่ ลองกอง เป็นต้น

         “ประเทศไทยยังมีศักยภาพของการผลิตเพิ่มในพื้นที่ด้านการเกษตรสูงมากที่ยังขาดการพัฒนาหรือพัฒนาไม่ถูกทางยังมีอีกเยอะ ภายใต้ช่วงท้ายสถานการณ์ไวรัสโคโรนาแพร่ระบาดเกษตรกรจะต้องปรับตัวหันมาปรับปรุงการผลิต หากครั้งนี้ท่านไม่ปรับปรุงไม่เปลี่ยนแปลงจะช้าหรือเร็วท่านต้องยกเลิกอาชีพ เกษตรกร เพราะว่าท่านสู้เขาไม่ได้แน่ ต้องปรับตัวอย่างเดียว ถึงจะอยู่รอดได้ ปรับเพื่อรอด ปรับเพื่อการเพิ่มรายได้” นายประพัฒน์ กล่าว