เริ่มจ่ายแล้วเงินเยียวยาเกษตรกรเดือนละ 5,000 บาทกลุ่มแรก รอบ 2 ตั้งแต่วันที่ 22 -29 พฤษภาคม 2563 มีทั้งหมด 3.43 ล้านราย ปลัดระทรวงเกษตรฯ ยืนยัน ทุกขั้นตอนดำเนินการอย่างโปร่งใส เป็นไปตามมติ ครม. และหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการกลั่นกรองฯ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ย้ำชัดในส่วนของข้าราชการที่อยู่ในทะเบียนเกษตรกรมีความชัดเจนแล้วว่า ไม่ควรได้รับการเยียวยาในส่วนนี้
นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2563 เห็นชอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินโครงการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีกรอบเยียวยาไม่เกิน 10 ล้านราย รายละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือน พฤษภาคม – กรกฎาคม 2563 โดยจ่ายเงินผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งตามมติของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้กำหนดให้ต้องมีการตรวจสอบเกษตรกรที่จะได้รับความช่วยเหลือตามโครงการฯ ให้มีความถูกต้องครบถ้วน รวมถึงต้องไม่ซ้ำซ้อนกับกลุ่มเป้าหมายตามมาตรการชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบหรือผู้ได้รับผลกระทบอื่น ๆ ของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างดำเนินการ และผู้ได้รับสวัสดิการผ่านระบบข้าราชการบำนาญของกรมบัญชีกลาง และระบบประกันสังคมของสำนักงานประกันสังคม เพื่อให้ความช่วยเหลือภายใต้มาตราการต่าง ๆ ของภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ในส่วนของการลงทะเบียนรับการช่วยเหลือเยียวยานั้น มีเกษตรกรกลุ่มแรกที่ขึ้นทะเบียนจำนวน 8.33 ล้านราย แต่ภายหลังจากการตรวจสอบความซ้ำซ้อนกับทะเบียนฐานประกันสังคม โครงการเราไม่ทิ้งกัน และทะเบียนข้าราชการบำนาญ ทำให้คงเหลือเกษตรกรที่มีคุณสมบัติได้รับเงินเยียวยา จำนวน 7.77 ล้านราย โดยการจ่ายเงินเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในครั้งที่ 1 ธ.ก.ส. ได้โอนเงินช่วยเหลือเกษตรกร ระหว่างวันที่ 15 – 21 พฤษภาคม 2563 รวมทั้งสิ้น 3.22 ล้านราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 16,114.76 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยโอนเงินจนครบจำนวนเกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย
อนันต์ สุวรรณรัตน์
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขการรับขึ้นทะเบียนตามที่หน่วยงานกำหนด และนำมาคัดกรองความซ้ำซ้อนกับผู้ได้รับสิทธิ์ตามโครงการ เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชน และตรวจสอบกับผู้ที่ได้รับสวัสดิการผ่านระบบข้าราชการบำนาญ และระบบประกันสังคม และเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 โดยกระทรวงเกษตรฯ ได้ส่งข้อมูลเกษตรกรครั้งที่ 2 ให้กับ ธ.ก.ส. จำนวน 3.43 ล้านราย เพื่อดำเนินการจ่ายเงิน โดยคาดว่า ธ.ก.ส. จะสามารถโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรในระหว่างวันที่ 22 – 29 พฤษภาคม นี้
สำหรับในครั้งที่ 3 กระทรวงเกษตรฯ ได้ส่งข้อมูลเกษตรกร จำนวน 0.70 ล้านราย ให้กระทรวงการคลังเพื่อให้ คัดกรองและตรวจสอบความซ้ำซ้อนกับผู้ได้รับสิทธิ์ตามโครงการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชน และตรวจสอบกับผู้ที่ได้รับสวัสดิการผ่านระบบข้าราชการบำนาญ และระบบประกันสังคม และยังมีเกษตรกรที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงและขึ้นทะเบียนเพิ่มเติมจำนวนประมาณ 1.6 ล้านราย ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะได้รวบรวมและส่งข้อมูลให้กระทรวงการคลัง ต่อไป
ในส่วนของเกษตรกรที่อยู่ระหว่างปรับปรุงและตรวจสอบการขึ้นทะเบียนเพิ่มเติม เนื่องจากประสบปัญหาภัยแล้ง จึงยังไม่สามารถเริ่มต้นการเพาะปลูกในฤดูการผลิต 2563/2564 ได้ ซึ่งได้กำหนดสิ้นสุดไปแล้วเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์อยู่ระหว่างดำเนินการรวบรวม ตรวจสอบ และจะส่งให้กระทรวงการคลังตรวจสอบและคัดกรอง เพื่อจะได้จ่ายเงินช่วยเหลือให้เกษตรกลุ่มนี้เช่นเดียวกัน โดยจะขออนุมัติเพื่อจ่ายเงินช่วยเหลือเพียงงวดเดียว รายละ 15,000 บาท ภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2563 โดยคาดว่าจะมีเกษตรกรรายใหม่ จำนวนประมาณ 120,000 ราย ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะตรวจแปลงดำเนินการตรวจสอบการขึ้นทะเบียนระหว่างเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม 2563
นายอนันต์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของข้าราชการที่อยู่ในทะเบียนเกษตรกรด้วย กระทรวงเกษตรฯ ได้หารือกับคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ซึ่งน่าจะมีความชัดเจนว่า ข้าราชการไม่ควรได้รับการเยียวยาในส่วนนี้ โดยจะต้องมีการซักซ้อมทำความเข้าใจถึงวิธีการปฏิบัติ และความชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง และคาดว่าจะมีการนำเสนอเข้าที่ประชุม ครม. ต่อไป อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขอยืนยันว่าจะเร่งดำเนินการเพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรทุกท่านเพื่อให้ได้รับความช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว ทันตามกำหนดเวลา ภายใต้มาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพไม่ซ้ำซ้อนเพราะเป็นโครงการที่ใช้เงินกู้ จึงต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง ครบถ้วนที่สุด และเป็นไปตามมติ ครม.อย่างเคร่งครัดต่อไป