“อำพัน”จ่อถล่มใต้ 17-20 พ.ค.ฝนตกหนัก กรมชลฯเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำทั่วประเทศ

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมอุตุฯ แจ้งพายุไซโคลน “อำพัน” จ่อถล่มภาคใต้ฝั่งอันดามัน ส่งผลภาคใต้ฝนตกหนักระหว่างวันที่ 17-20 พฤษภาคม 2563 ตั้งแต่กาญจนบุรียันถึงนครศรีธรรมชา เตือนชาวประมง ผู้เดินเรืองดออกนอกชายฝั่ง พร้อมประกาศอย่างเป็นทางการวันที่ 18 พ.ค.63 เข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการแล้ว  ขณะที่กรมชลประทาน เตรียมรับมือและเฝ้าระวังพร้อมติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

      เมื่อเวลา 16.00 น. กรมอุตุนิยมวิทยาจะออกประกาศฉบับ 5 ลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2563 ว่า พายุไซโคลน “อำพัน” บริเวณอ่าวเบงกอลตอนกลาง มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 11.7 องศาเหนือ ลองจิจูด 86.3 องศาตะวันออก กำลังเคลื่อนตัวทางทิศเหนือด้วยความเร็วประมาณ 5 นอต หรือ 10 กม/ชม ความเร็วสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 55 นอต หรือ 100 กม/ชม มีแนวโน้มเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวเบงกอลตอนบน และประเทศบังคลาเทศ

      ลักษณะเช่นนี้ส่งผลทำให้ในช่วงวันที่ 17-20 พฤษภาคม 2563 มีลมตะวันตกเฉียงใต้พัดเข้ามาปกคลุมทะเลอันดามัน และภาคใต้ ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนตกหนักบางพื้นที่บริเวณจังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ชุมพร สุราษฏร์ธานี และนครศรีธรรมราช ส่วนคลื่นลมในทะเลอันดามันมีกำลังแรงขึ้น โดยตั้งแต่จังหวัดกระบี่ขึ้นมาทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองจะมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในช่วงเวลานี้

      จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือสายด่วนพยากรณ์อากาศ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ก่อนหน้านี้ ทางกรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศอย่างเป็นทางการแล้วว่าตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2563 เข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการแล้ว และจะสิ้นสุดในเดือนตดลาคม 2563

        ด้าน ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาเตือน  เรื่อง “ฝนตกหนักและคลื่นลมแรงบริเวณทะเลอันดามัน” เนื่องจากพายุดีเปรสชันบริเวณอ่าวเบงกอลตอนกลางได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไซโคลน “อำพัน” มีแนวโน้มที่จะเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวเบงกอลตอนบน ซึ่งจะส่งผลทำให้ในช่วงวันที่ 17-20 พฤษภาคม 2563 ภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนตกหนักบางพื้นที่ บริเวณจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล ส่วนคลื่นลมในทะเลอันดามันมีกำลังแรงขึ้น ตั้งแต่จังหวัดกระบี่ขึ้นมาทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร นั้น

       กรมชลประทาน จึงเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำ โดยให้เจ้าหน้าที่ประจำอยู่ในพื้นที่จังหวัดที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว เพื่อสามารถเข้าไปดำเนินการช่วยเหลือจากสถานการณ์น้ำได้ทันที บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำและน้ำท่าตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งจะดำเนินการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำและปรับการระบายน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมอย่างเคร่งครัด เพื่อรักษาเสถียรภาพของอ่างเก็บน้ำ และอาคารชลประทานต่างๆ รวมถึง รักษาระดับน้ำบริเวณเหนือเขื่อนและพื้นที่ด้านท้ายน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม

       นอกจากนี้ ยังให้สำนักงานชลประทาน ติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งกำชับให้ตรวจสอบอาคารชลประทานทุกแห่งให้สามารถใช้งานได้เต็มศักยภาพ กำจัดวัชพืชไม่ให้กีด ขวางทางน้ำ ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อบริหารจัดการน้ำในอ่างให้เป็นไปตามเกณฑ์การเก็บกัก แจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม-น้ำล้นตลิ่ง อีกทั้งยังได้จัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือไว้ในพื้นที่แล้ว หากต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร. 1460 สายด่วนกรมชลประทาน ได้ตลอดเวลา