2 ภารกิจ “โรงไฟฟ้าชุมชน-ราคาปาล์มฯ”เพื่อเกษตรกร ท้าพิสูจน์ฝีมือ “น้าสน”

  •  
  •  
  •  
  •  

ดลมนัส กาเจ

            “2 โครงการนี้ทั้งโรงไฟฟ้าชุมชนและการส่งเสริมใช้ไบโอดีเซล ถือเป็นการเชื่อมโยงวิถีชีวิตผู้คนในชุมชนโดยเฉพาะที่ผู้ที่มีอาชีพเป็นเกษตรกร ซึ่งเป็นกลุ่มคนหมู่มากภายในประเทศที่กำลังประสบปัญหากับรายได้ที่ต่ำอยู่ในวังวนของความยากจน ทำให้ ดูเสมือนหนึ่งว่า 2 โครงการนี้เป็นเป็นโรงการที่ชุบชีวิตเกษตรกรไทยนั่นเอง”

      ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2563 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ออกมาบอกใบ้ ที่มีความหมายหรือนัยว่า โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก  700 เมกะวัตต์ ในของส่วนกลุ่มเร่งด่วน หรือ Quick Win  100 เมกะวัตต์นั้นใกล้เป็นรูปธรรม ดั่งที่ผู้ประกอบการที่สนใจจะลงทุนในโครงการนี้กำลังรอคอยอย่างใจจดใจจ่อแทบทุกลมหายใจอยู่ เพียงแต่…ให้รอไปอีกนิดคงจะเป็นต้นเดือนมิถุนายน 2563 ก็จะเปิดให้ยื่นข้อเสนอได้แล้ว พร้อมๆกับบอกใบ้ถึงแนวทางในการกัญหาราคาผลผลิตปาล์มน้ำมันตกต่ำว่า ได้เร่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เร่งจัดซื้อน้ำมันปาล์มดิบ หรือ CPO ส่วนที่เหลือ 37,550 ตัน พร้อมเร่งติดตั้งบล็อกเชน ควบคุมราคาปาล์มตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ เพื่อดัดหลังพ่อค้าคนกลาง และการลักลอบน้ำเข้าอย่างครบวงจร ที่น่าสนใจยิ่งคือในวันที่ 1 ตุลาคม 2563 นี้จะเปลี่ยนน้ำมีดีเซล B10 จากที่เป็นน้ำมันพื้นฐาน มาเปลี่ยนชื่อใหม่เรียกว่า “ดีเซล”

       หากสกรีนถึงแก่นแท้ และมองให้ทะลุถึงรากแก้ว 2 โครงการยักษ์ ของกระทรวงพลังงาน ที่รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงคนก่อนๆไม่คิดเลย ทั้ง โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก  700 เมกะวัตต์” และ “พลังงานทดแทน” ตามนโยบาย Energy For All พลังงานเพื่อทุกคน” ที่ส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซลผสมในน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนของน้ำมนดีเซล B20 และน้ำมันดีเซล B10 และประกาศให้น้ำมัน B10 เป็นดีเซลพื้นฐานของประเทศแทน B7 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม  2563 ที่ผ่านมานั้น ไม่เพียงแต่จะให้ประเทศไทยมีพลังงานสำรองที่มาจากวัสดุที่มีอยู่ภายในประเทศมาทดแทนพลังจากน้ำมันเชื้อเพลิงที่เชื่อว่า วันหนึ่งจะหมดไปจากใต้เปลือกโลกเพียงอย่างเดียว หากแต่ 2 โครงการนี้ ทั้งโรงไฟฟ้าชุมชนและการส่งเสริมใช้ไบโอดีเซล ถือเป็นการเชื่อมโยงถึงวิถีชีวิตผู้คนในชุมชน โดยเฉพาะผู้ที่มีอาชีพเป็นเกษตรกร ซึ่งเป็นกลุ่มคนหมู่มากภายในประเทศนี้ที่กำลังประสบปัญหากับรายได้ต่ำ จึงทำให้ดูเสมือนหนึ่งว่า 2 โครงการนี้เป็นโครงการชุบชีวิตเกษตรกรไทยนั่นเอง

         ที่เห็นชัดเจน โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก  700 เมกะวัตต์  นายสนธิรัตน์ ในฐานะเจ้าของโปรเจกท์ มีความมั่นใจว่า จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างรายได้เกษตรกร เพราะได้กำหนด หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณาอย่างชัดเจนว่า หัวใจสำคัญคือชุมชนที่อยู่ในพื้นสร้างโรงไฟฟ้าต้องได้ผลประโยชน์ ชุมชนสามารถมีชีวิตที่ดีขึ้นได้จากการตั้งโรงไฟฟ้าในพื้นที่ของตัวเอง เน้นให้คนในชุมชนต้องได้ประโยชน์ สามารถมีชีวิตที่ดีขึ้นเป็นตัวตั้ง

        ที่สำคัญยิ่ง โครงการนี้ ผู้ที่จะยื่นเสนอเพื่อลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนต้องระบุด้วยว่า พืชพลังงานที่จะมาป้อนโรงไฟฟ้าจะสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรต่อไร่ต่อปีเท่าไร และต้องให้ดีกว่าของเดิมที่ปลูกอยู่แล้ว อาทิ การปลูกหญ้าเนเปียร์ สามารถสร้างรายได้ตั้งแต่ 2-3 หมื่นต่อไร่ต่อปี ซึ่งดีกว่าการปลูกข้าว มัน ข้าวโพด ที่มีรายได้หลักพันต่อไร่ต่อปี การปลูกพืชชนิดใหม่ ต้องให้ชีวิตเกษตรดีขึ้น ประการต่อมาสามารถสร้างความมั่นคงให้กับเกษตรกรได้ และต้องทำพันธสัญญาซื้อขายวัตถุดิบให้กับโรงไฟฟ้าชุมชนเป็นเวลา 20 ปี  

        นั่นแปลว่า เท่ากับเป็นการันตีความมั่นคง สร้างรายได้ให้เกษตรกรที่ยาวนาน รวมถึงการซื้อวัตถุดิบที่เป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในชุมชนด้วย  อาทิ  ฟางข้าว ซังข้าวโพด ใบอ้อย และเศษไม้ในพื้นที่ สำหรับโรงไฟฟ้าชุมชนที่ใช้ไบโอแมสเป็นวัตถุดิบ

          อย่างไรก็ตาม ในส่วนที่โครงการนี้ (กลุ่ม Quick Win)ที่ล่าช้าออกไปจากกำหนดเดิมนั้น นายสนธิรัตน์ ยอมรับว่า  เพราะว่า เป็นเรื่องใหม่มากของกระทรวงพลังงาน ไม่เคยมีเรื่องนี้มาก่อนในประเทศไทย รายละเอียดต่างๆ ก็มีข้อถกเถียง ทำกันหลายรอบกว่าจะเสร็จ กลับมาก็มีข้อถกเถียงอีกต้องกลับไปแก้ใหม่ เพราะถ้าทำไม่รัดกุมก็จะสร้างปัญหาได้ เนื่องจากไม่ได้ทำเฉพาะภาคราชการเท่านั้น แต่ทำร่วมกับภาคประชาชนด้วย ต้องฟังฝ่ายผู้ประกอบการว่า มีข้อจำกัดเหล่านี้ปฏิบัติได้หรือไม่ ทั้งที่ตัวเองอยากเร่งใจจะขาดอยู่แล้ว

            แต่กระนั้น รัฐมนตรีว่าการกรพลังพลัง แย้มๆออกล่าสุด  เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมาว่า ขณะนี้ตัวกรอบเงื่อนไข หลักเกณฑ์การคัดเลือกโรงไฟฟ้าชุมชน เพิ่งเสร็จส่งให้ผู้มีส่วนเกี่ยวไปแล้ว ตั้งแต่ 15 เมษายน 2563  ที่ผ่านมา ซึ่งทราบมาว่ายังติดอยู่ในกระบวนการ ทางระเบียบ และวิธีปฏิบัติซึ่งต้องใช้เวลาเล็กน้อย ก่อนจะไปสู่บวนการแผน PDP 2018 เข้าสู่ ครม. คงใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ หน้าก็น่าจะประกาศได้ คงประมาณการว่า น่าจะต้นเดือนมิถุนายนนี้ก็สามารถยื่นได้ หลังจากนั้นคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ก็จะออกประกาศเชิญชวนเพื่อเปิดให้ผู้ที่สนใจยื่นข้อเสนอต่อไป อย่าเพิ่งใจร้อนกัน และหลังจากที่ได้รับการคัดเลือกแล้วผู้ประกอบการจะต้องมีความพร้อมจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ภายใน 12 เดือนนับจากวันลงนามสัญญา

      “ผมได้พยายามเร่งรัดให้แผน PDP 2018 เข้า ครม. แต่ไม่ได้อยู่ที่ผมคนเดียว อยู่ที่หลายๆ คนด้วย แต่ก็ได้เร่งรัดกันอยู่ เราก็อยากประกาศรับซื้อไฟฟ้าในวันนี้ วันพรุ่งนี้ แต่ยังติดในขั้นตอนขบวนการ แต่คาดว่าอีกประมาณ 2 สัปดาห์ก็จะเรียบร้อยแล้ว” รมว.พลังงาน กล่าว

            ขณะที่การแก้ปัญหาราคาผลผลิตปาล์มน้ำมันตกต่ำ ล่าสุดอยู่ที่ กก. 2.7-2.9 บาท อันเกิดมาจากเป็นฤดูการผลผลิต และการบริโภคลดลง 20-30% จากปกติจะอยู่ที่ 1 แสนตันต่อเดือน มาอยู่ที่ 7.5-8.0 หมื่นตันต่อเดือน เพราะส่วนหนึ่งการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ร้านอาหารปิดตัวลง ขณะที่การใช้น้ำมี พบว่าช่วงเดือนมกราคม ที่ผ่านมามีปริมาณการใช้ B100 ลดลงมาอยู่ที่ 4.9 ล้านลิตรต่อวัน จาก 5.3 ล้านลิตรต่อวัน เพราะคนไม่ออกจากบ้าน ล่าสุดช่วงต้นเดือนพฤษภาคม สถานการณ์เริ่มคลายล็อกดาวน์มาตรการต่างๆ ทำให้ยอดใช้ B100 กลับมาเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 5.4 ล้านลิตรต่อวัน แต่ B10 ไม่ได้กระทบ จากเดิมเริ่มแรกขายอยู่ที่ 3-4 หมื่นลิตรต่อวัน ปัจจุบันได้ขยับขึ้นมาเป็น 17 ล้านลิตรต่อวัน จากเป้าหมายที่วางไว้ 20 ล้านลิตรต่อวัน

            ทั้งนี้และทั้งนี้ เมื่อผลผลิตปรล์มน้ำมันราคาตกต่ำ เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน นายสนธิรัตน์ บอกว่า กระทรวงพลังงาน ต้องผลักดันแนวทางการแก้ปัญหาราคาผลปาล์มตกต่ำ โดยได้มอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เร่งจัดซื้อน้ำมันปาล์มดิบ หรือ CPO ส่วนที่เหลือ 37,550 ตัน จากมติ ครม. เห็นชอบเพื่อนำมาผลิตกระแสไฟฟ้า พร้อมกันนี้ได้เดินหน้านโยบายสนับสนุนการใช้น้ำมันดีเซล B10 เพื่อช่วยดูดซับสต็อก CPO ที่ปัจจุบันมีอยู่ปริมาณมากและช่วยส่งเสริมให้ราคาผลปาล์มขยับขึ้นไปด้วย

นอกจากนี้ กรมธุรกิจพลังงานยังเตรียมนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาดูแลการซื้อขายปาล์มทั้งระบบ เมื่อมีการติดตั้งเสร็จจะทำให้เห็นราคาปาล์มทั้งวงจรเชื่อมโยงกันจะสามารถตัดวงจรการลักลอบน้ำเข้า และแก้ปัญหาพ่อค้าคนกลาง เช่น ปัจจุบันเมื่อราคา CPO ที่ขยับขึ้นไปอยู่ที่ 21 บาทต่อกิโลกรัม จะทำให้ราคาผลปาล์มขึ้นไปอยู่ที่ 3.50 บาทต่อกิโลกรัม แต่ขณะนี้ราคาผลปาล์มกลับอยู่ที่กิโลกรัมละ 2.70-2.90 บาทเท่านั้น ซึ่งในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ กรมธุรกิจพลังงานจะมีการประชุมหารือกับผู้ประกอบการบล็อกเชน เพื่อสรุปเริ่มนำร่องบางบริษัทได้ในเดือนมิถุนายน 2563นี้

            ทั้งหมดนี้เป็นความคืบหน้าล่าสุดสดๆร้อนๆ ที่เจ้ากระทรวงพลังงานเจ้าโปรเจกท์ “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์กำลังเดินหน้าแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก  700 เมกะวัตต์ ที่ล่าช้าออกไป และแนวทางในการแก้ปัญหาราคาผลผลิตปาล์มน้ำตกต่ำ ที่เกษตรกรกำลังรอคอย ราวกับรอพระเอกขี่ม้าขาวมาพยุงคุณภาพชีวิตให้พ้นจากความยากจนอันเกิดอาชีพการเกษตรที่ราคาผลผลิตตกต่ำ หากโครงการสำฤทธิ์ผลตามคาดหมาย จะให้เกษตรกรจำนวนไม่ที่จะได้อนิสงค์และมีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนและแน่นอนอีกกาลนาน