กอนช.ยันพร้อมช่วยเหลือพื้นที่ประสบแล้ง เน้นขาดน้ำอุปโภค-บริโภคเป็นอันดับแรก

  •  
  •  
  •  
  •  

                                                                    ดร. สมเกียรติ ประจำวงษ์

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ชี้กรณีบ้านหนองกาว จ.กาฬสินธุ์ ร้องขอบ่อบาดาลเพิ่ม ยังไม่เข้าข่ายจำเป็นเร่งด่วน หลังหน่วยเกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบน้ำกินน้ำใช้ยังเพียงพอตลอดแล้ง พร้อมรับลูกนโยบายนายกรัฐมนตรีที่มีความห่วงใยพื้นที่ที่ยังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภคเร่งให้ความช่วยเหลือทันที

      ดร. สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เปิดเผยว่า กรณีที่มีผู้แทนหมู่บ้านบ้านหนองกาว หมู่ 5 ต.นาเชือก อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ได้ร้องขอความช่วยเหลือจากภาครัฐในการแก้ไขปัญหาน้ำดิบไม่เพียงพอจากสถานการณ์แล้ง โดยขอรับการสนับสนุนให้มีการขุดบ่อบาดาลเพิ่มเติมผ่านสื่อมวลชนนั้น ล่าสุดหน่วยงานเกี่ยวข้องภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำให้กับประชาชนกรณีหากมีการขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีโดยเร่งด่วน ประกอบด้วย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาค 3 และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล พบว่า หมู่บ้านดังกล่าวอยู่ในพื้นที่นอกเขตชลประทานอาศัยน้ำฝนเป็นปัจจัยหลัก


      ปัจจุบันมีบ่อบาดาลเพื่อใช้ผลิตประปาหมู่บ้านแล้วจำนวน 2 แห่ง ซึ่งปริมาณน้ำดิบยังมีใช้เพียงพอ พบเพียงปัญหาน้ำประปาไหลไม่แรงในบางช่วงเวลาที่ประชาชนมีการใช้น้ำพร้อมกันเท่านั้น แต่ยังไม่อยู่ในขั้นวิกฤติ โดยในปีที่ผ่านๆมาในช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค.ก็มีเหตุการณ์คล้ายๆกันคือน้ำจะน้อยในช่วงดังกล่าว แต่ก็พอมีใช้ตลอดฤดูแล้ง ขณะเดียวกัน ทางด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้านห่างจากระบบประปาสถานีที่ 1 ประมาณ 300 เมตร มีหนองกาว ขนาดประมาณ 20 ไร่ น้ำลึกประมาณ 3 เมตร ซึ่งสามารถสูบน้ำเข้าระบบประปาได้หากน้ำประปาในระบบไม่เพียงพอด้วยเช่นกัน

      ดังนั้น การร้องขอบ่อบาลเพิ่มเติมในพื้นที่ดังกล่าวจึงถือว่าไม่เข้าข่ายจำเป็นเร่งด่วน เนื่องจากการพิจารณาจัดสรรงบประมาณในการขุดเจาะบ่อบาดาลจะต้องมีการสำรวจความเหมาะสมของพื้นที่หากเสี่ยงจะขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภคภาครัฐยินดีพร้อมให้การสนับสนุนทันที แต่กรณีพื้นที่ดังกล่าวพบว่ามีการทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้งแม้ภาครัฐจะมีการแจ้งเตือน ประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้เกษตรกรมาล่วงหน้าตั้งแต่ต้นฤดูแล้งว่าไม่สามารถสนับสนุนน้ำเพื่อการเกษตรได้ รวมถึงชี้แจงถึงการจัดลำดับความสำคัญของแผนงานโครงการจะเน้นไปที่การช่วยเหลือไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภคก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งยังมีหลายพื้นที่ยังได้รับความเดือดร้อน

        อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นกองอำนวยการน้ำแห่งชาติได้ประสานกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ซึ่งได้มอบหมายให้สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 4 ขอนแก่น เข้าให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้นกรณีที่อาจจะมีไม้ผลของเกษตรกรได้รับผลกระทบ สำหรับการแก้ไขปัญหาในระยะยาวสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการพิจารณาแผนงานโครงการในการสนับสนุนแหล่งน้ำในพื้นที่นอกเขตชลประทานทั่วประเทศให้เกิดความยั่งยืนในด้านแหล่งน้ำโดยเร็วต่อไป

      ส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์ได้รับงบประมาณจากโครงการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2562/2563 (เพิ่มเติม) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 ที่ดำเนินการอยู่ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน 322 แห่ง วงเงินประมาณ 221 ล้านบาท ซึ่งเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะส่งผลให้มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 6.41 ล้าน ลบ.ม.โดยอยู่ในพื้นที่ ต.นาเชือก อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ 1 แห่ง วงเงิน 564,000 บาท เป็นโครงการขุดสระเก็บน้ำ ดำเนินการโดย อบต. นาเชือก เมื่อแล้วเสร็จจะมีปริมาณน้ำ 19,800 ลบ.ม./ปี