ผู้เลี้ยงหม่อนไหมเฮ!! ได้ 1.5 หมื่นเหมือนกัน เล็งชาวสวนยาง-ไร่อ้อยพิจารณาคิวต่อไป

  •  
  •  
  •  
  •  

                                                 อลงกรณ์ พลบุตร

กระทรวงเกษตรฯ เตรียมจัดหาพันธุ์ปลานิลแปลงเพศ เมล็ดพันธุ์พืช แม่พันธุ์เป็ด ไก่ มอบให้เกษตรกรนำไปประกอบอาชีพ ควบคู่กับการเยียวยาผู้กระทบจากภัยโควิดภายใต้โครงการ “เราจะไม่ทิ้งกัน” รายละ 1.5 หมื่นบาท พร้อมปล่อยสัตว์น้ำลงในลำน้ำธรรมชาติ ให้มีอาหารกิน ล่าสุดไฟเขียวเพิ่มเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมหม่อนไหมได้เดือนละ 5,000 บาทเหมือนกัน  ก่อนพิจารณากลุ่มชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนไว้กับการยางแห่งประเทศไทย และชาวไร่อ้อยด้วย ขณะที่ “อลงกรณ์” เคลียร์ชัดประเด็น เว็ปธกส.www.เยียวยาเกษตรกร.com เฉพาะเกษตรกรที่ไม่มีบัญชีกับ ธ.ก.ส.เท่านั้น

      วันที่ 8 พฤษภาคม 2563  นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวระหว่างแถลงข่าว ณ ห้องประชุม 112 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า จากกรณีที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้เปิดเว็บไซต์ www.เยียวยาเกษตรกร.com โดยเปิดให้เกษตรกรลงทะเบียนเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2563 เวลา 20.00 น.ในโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019นั้น มีเกษตรกรจากหลายจังหวัดสอบถามมาด้วยความข้องใจว่า ต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับธ.ก.ส.ด้วยหรือไม่ จึงขอชี้แจงว่าเว็ป “เยียวยาเกษตรกร” ของ ธ.ก.ส.ให้เกษตรกรลงทะเบียนว่า จะให้โอนเงินไปเข้าบัญชีธนาคารอะไร ในกรณีที่ไม่มีบัญชีธนาคารกับ ธ.ก.ส. 

         สำหรับความคืบหน้าล่าสุดจำนวนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนซึ่งจะได้รับรายละ 15,000 บาทจ่าย 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ เดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2563 วงเงิน150,000ล้านบาทจำนวนไม่เกิน 10 ล้านราย ประกอบด้วย 1) เกษตรกรเป้าหมายกลุ่มแรก (ข้อมูลสรุป ณ 30 เม.ย. 63) จำนวนไม่เกิน 8.33 ล้านราย จ่ายเงินผ่าน ธ.ก.ส. และ 2) เกษตรกรเป้าหมายกลุ่มที่สอง ได้แก่ เกษตรกรที่อยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียน ซึ่งจะหมดเขต วันที่15พ.ค. 63 จำนวนไม่เกิน 1.67 ล้านราย

       “นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน มีความห่วงใยและกำชับให้ดูแลพี่น้องเกษตรกร เพราะนอกเหนือจากสถานการณ์โควิด-19 แล้ว พี่น้องเกษตรกรยังประสบปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย กระทรวงเกษตรฯ จึงมีมาตรการต่าง ๆ เข้ามาช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรนอกเหนือจากมาตรการเยียวยาในช่วงโควิด-19 เช่น ในส่วนของกรมประมง จะมีการแจกจ่ายปลานิลแปลงเพศ ประมาณ 44,000 ราย รายละ 800 ตัว พร้อมอาหารปลาจำนวน 120 กิโลกรัม ซึ่งถือเป็นการเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่งให้กับเกษตรกร”นายอลงกรณ์ กล่าว

        ที่ปรึกษา รวม.เกษตรฯ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีการปล่อยกุ้งก้ามกร้าม ตามแหล่งน้ำสาธารณะ 1,436 แห่ง 129 อำเภอ แห่งละ 200,000 ตัว และให้มีการตั้งคณะกรรมการมาดูแลแหล่งน้ำชุมชน เพื่อให้เป็นระบบในการบริหารจัดการแหล่งน้ำร่วมกัน โดยวัตถุประสงค์หลักเพื่อต้องการให้เกษตรกรและคนในชุมชนมีอาหารไว้บริโภคในครัวเรือน และเมื่อเหลือแล้วถึงเอาไปขาย โดยดำเนินการในลักษณะของชุมชน ในส่วนของกรมปศุสัตว์ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณในการมอบเป็ดไข่ ไก่ไข่ ไก่เนื้อ ประมาณ 77,000 ครอบครัว เพื่อให้เกิดรายได้อีกทางหนึ่งด้วย

         “ในกรณีของชาวไร่ มีการสนับสนุนงบประมาณในการปลูกพืชใช้น้ำน้อย เช่น ถั่วเขียว ข้าวโพด มีการจัดสรรให้ 12,000 ครอบครัว เกือบ 100,000 ไร่ นอกจากนี้ ยังมีการจัดสรรเมล็ดพันธุ์ข้าว จำนวนหลายหมื่นตัน โดยให้กรมการข้าวและกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นผู้ผลิตและจัดสรรให้กับเกษตรกร ซึ่งการดำเนินการในลักษณะดังกล่าวจะทำให้เม็ดเงินกลับคืนไปสู่เกษตรกร” ที่ปรึกษา รมว.เกษตรกรกล่าว 

       ทั้งนี้ การขึ้นทะเบียนเกษตรกรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จากเดิมที่มีการตรวจสอบเกษตรกรขึ้นทะเบียนกับ 3 กรม ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง และกรมปศุสัตว์ ปัจจุบันจะมีการเพิ่มเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมหม่อนไหมด้วย

       นอกจากนี้ ยังมีการตรวจสอบทะเบียนเกษตรกรที่ไม่อยู่ภายใต้ระเบียบคณะกรรมการนโยบายและแผนฯ ว่าด้วยการขึ้นทะเบียนเกษตรกร พ.ศ. 2560 ได้แก่ เกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนไว้กับการยางแห่งประเทศไทย เกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย และเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบที่ขึ้นทะเบียนไว้กับการยาสูบแห่งประเทศไทย ซึ่งในเบื้องต้นได้มีการหารือร่วมกับกระทรวงการคลังเพื่อกำหนดเป้าหมายที่จะดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาในครั้งนี้ด้วย