เปิดให้ยื่นของบฯ 5,600 ล้านพัฒนาพลังงาน กระตุ้น ศก.หลังโควิด“สมคิด-น้าสน” สั่งฟื้น อส.พน.ช่วยเหลือชุมชน

  •  
  •  
  •  
  •  

ได้เวลาให้ยื่นของบประมาณสนับสนุนจากกองทุนอนุรักษ์ฯวงเงิน 5,600 ล้านบาท ต้นเดือนพฤษภาคม 63 นี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก หลังโควิด-19 คลี่คลาย บอกใบ้ข้อสอบ เน้นข้อเสนอโครงการที่เจาะกลุ่มวิสาหกิจขนาดเล็ก เกษตร อบรมบุคลากร ยกระดับคุณภาพชีวิต ให้เกิดการจ้างงานและกระจายรายได้ในชุมชน “สมคิด-สนธิรัตน์” เห็นพ้อง นโยบายสั่งฟื้น“อส.พน.” เชื่อมโยงกับพลังงานจังหวัดช่วยเหลือชุมชน ยึดโมเดล อสม. ดูแลประชาชนช่วงพิษโควิด 

      นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานและในฐานะประธานคณะทำงานกลั่นกรองกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานที่มี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมประชุมด้วย เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 63 ที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมได้รับรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ส.กทอ.) ว่า มีกำหนดเปิดให้มีการยื่นขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุนอนุรักษ์ฯ ภายในสัปดาห์หน้า ตามขั้นตอนจะมีการรวบรวมเสนอโครงการต่างๆ ต่อกองทุนอนุรักษ์ฯ ประมาณปลายเดือน พ.ค.63 นี้ จากนั้นมีการวิเคราะห์ กลั่นกรองโครงการเสร็จเรียบร้อย และทำหนังสือแจ้งให้ผู้ได้รับการสนับสนุนได้รับทราบ ก่อนเริ่มต้นโครงการได้ประมาณปลายเดือน ก.ค.63 ซึ่งเหลือเวลาจำกัดเพียง 3 เดือนเท่านั้นก็จะสิ้นสุดปีงบประมาณในวันที่ 30 ก.ย. 63

       อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้โครงการทั้งหมดยืดเยื้อไปกระทบกับโครงการในปีงบประมาณ 64 ที่ประชุมจึงได้ทบทวนกรอบยุทธศาสตร์การจัดสรรเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ประจำปีงบประมาณ 63 วงเงิน 10,000 ล้านบาท ด้วยการเห็นชอบตัดงบที่ไม่จำเป็นออกไปเพื่อเร่งโครงการให้เร็วขึ้น จำนวน 4,100 ล้านบาท เหลือวงเงิน 5,600 ล้านบาท ได้แก่ 1.แผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เดิมวงเงิน 5,000 ล้านบาท ได้ตัดให้เหลือ 2,400 ล้านบาท 2.แผนพลังงานทดแทน เดิมวงเงิน 4,700 ล้านบาท ได้ตัดให้เหลือ 3,200 ล้านบาท และ 3.แผนบริหารของ ส.กทอ. วงเงิน 300 ล้านบาท และมีการจัดสรรให้จำนวน 256 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดให้ยื่นขอเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ ในช่วงต้นเดือน พ.ค.นี้ หลังจากแต่ละจังหวัดได้รับแอดมิน โค้ดไปก่อนหน้านี้แล้ว

         ดังนั้นภายหลังสัปดาห์หน้า จะมีการเตรียมตัวทำหลักเกณฑ์เพิ่มเติมอีก แม้ว่าจะได้ร่างหลักเกณฑ์มาพิจารณาแล้ว ซึ่งหลักเกณฑ์ที่เพิ่มเติมจะเป็นการกำหนดไปที่กลุ่มวิสาหกิจขนาดเล็ก เพื่อการจ้างงาน ถ้าเป็นโครงการที่มีจ้างงานให้มากขึ้นก็จะใส่เพิ่มเติมเข้าไป การอบรมคนให้มีความรู้พลังงาน ยกระดับคุณภาพชีวิต เพื่ออัดฉีดให้เงินเข้าไประบบ ให้มีรายได้เพิ่มขึ้น

        สำหรับ โครงการที่อยู่ในวงเงิน 5,600 ล้านบาท รองนายกฯ (สมคิด) ได้เน้นไปที่การกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงเดือน ก.ค.63 เป็นต้นไป ซึ่งจะเป็นเวลาที่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คลี่คลายแล้ว โดยมุ่งไปที่กลุ่มของกิจการขนาดเล็กและขนาดย่อม กลุ่มเกษตรกร ภาคการเกษตร วิสาหกิจชุมชน ซึ่งชุมชนระดับฐานรากกลุ่มนี้จะได้เร่งการช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ มีการเพิ่มประสิทธิภาพ ยกระดับคุณภาพชีวิตประประชาชน และเร่งโครงการที่ก่อให้เกิดการจ้างงานในภูมิภาคทั่วประเทศ

       ทั้งนี้ ได้เตรียมโครงการเฉพาะการจ้างงานหลังโรคโควิดคลี่คลายเป็นเงินจำนวน 3,600 ล้านบาท จากวงเงินทั้งสิ้น 5,600 ล้านบาท เป็นงบส่วนกลุ่มงานสนับสนุน ลดต้นทุน ยกระดับคุณภาพชีวิต เพิ่มเศรษฐกิจฐานราก และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมสำหรับเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งแบ่งออกเป็นกลุ่มเพิ่มประสิทธิภาพ 1,500 ล้านบาท และกลุ่มพลังงานทดแทน 2,100 ล้านบาท

       นอกจากนี้ที่ประชุมในครั้งนี้ได้มีการอนุมัติว่า ให้แต่ละจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มีพลังงานจังหวัดเป็นเลขานุการ ได้คิดโครงการของจังหวัดขึ้นมาว่า อยากทำอะไรเกี่ยวกับพลังงานบ้าง เช่น มีเครื่องสูบน้ำโซลาร์ เอาเครื่องสูบน้ำมาระดมทุนกันทำแปลงดอกไม้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย.63 ก็จะมีดอกไม้ออกดอกสร้างเป็นแหล่งท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้กับจังหวัดได้ จากนั้นก็เอาเงินจากกองทุนอนุรักษ์ฯ ใส่ลงไปทำห้องเย็นแช่ผลไม้ แช่ผัก ให้เก็บได้นานขึ้น หาช่องการทางจำหน่าย ทำแพ็กเกจจิ้งให้ครบวงจร ซึ่งมีหลายจังหวัดคิดมาแล้วอยู่ระหว่างเสนอโครงการว่า หลังโควิดจะฟื้นฟูจังหวัดยังไง ซึ่งชุมชนที่เป็นเศรษฐกิจฐานรากหลักของจังหวัดจะต้องได้รับประโยชน์ตรงนี้

       “อีกสิ่งหนึ่งที่ประชุมให้ความสนใจมาก คือ การพัฒนาบุคลากร การอบรม ซึ่งในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้ ปรากฏว่า อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ได้ทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพมากในการช่วยเหลือชุมชน ช่วยเหลือโรงพยาบาลสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อดูแลประชาชนในตำบลต่างๆ ขณะที่กระทรวงพลังงานมีอาสาสมัครพลังงาน (อส.พน.) อยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาไม่มีการฝึกอบรมแต่อย่างใด ทางรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จึงมีนโยบายจะฟื้นฟู อส.พน.ขึ้นมาใหม่ จะมีการฝึกอบรมอาสาสมัครพลังงานเพื่อมาทำงานช่วยเหลือพลังงานจังหวัดต่อไป” นายกุลิศ กล่าว

       ในส่วนของการจัดทำกรอบยุทธศาสตร์ การจัดสรรเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ประจำปีงบประมาณ 64 จะต้องทำต่อเนื่องจากนี้เลยว่าจะมีโครงการอะไรบ้าง เน้นเรื่องไหนเป็นพิเศษ โดยใช้ฐานของข้อเสนอที่จะยื่นเข้ามาในเดือน พ.ค. นี้เป็นหลัก ถ้าจังหวัดที่ทำได้ดี แต่มีเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ ไม่เพียงพอก็จะต่อยอดให้ในปี 64 เลย

       ขณะที่วงเงินสนับสนุนโครงการยังตั้งไว้อยู่ที่ 10,000 ล้านบาทเหมือนทุกปี โดยเงินที่ถูกตัดออกไปในปีนี้ จำนวน 4,100 ล้านบาท จะนำไปเก็บไว้ใช้ในปี 64 เมื่อรวมกับเงินที่ได้จากการเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมัน 10 สตางค์ต่อลิตร จากเดิมอยู่ที่ 25 สตางค์ต่อลิตร และปีนี้มาเจอปัญหาไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ประชาชนใช้รถยนต์น้อยลง ซึ่งอาจจะทำให้การส่งเงินเข้ากองทุนอนุรักษ์ฯ ลดน้อยลงตามไปด้วย โดยช่วงตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 62-31 มี.ค. 63 สามารถเรียกเก็บเงินได้ตามเป้าหมาย 1,500 ล้านบาท แต่ช่วงเดือน เม.ย.-ก.ย. 63 ยังไม่แน่ใจว่าจะถึงตามเป้าหมาย 2,000 ล้านบาท ซึ่งถ้าหากไม่เป็นไปตามเป้าหมายเงินกองทุนอนุรักษ์ฯ ปี 64 ก็อาจจะลดลงตามไปด้วย