รู้อยู่ สู้ความจริง จัดการได้ สู้ภัยแล้ง …เกษตรกรพันธุ์ใหม่ที่กล้า”เปลี่ยน”สู่ความยั่งยืน

  •  
  •  
  •  
  •  
แล้งนี้เราต้องรอด…
     ก่อนหน้านี้เป็นที่วิตกกันว่า ภัยแล้งปีนี้ที่รุนแรงกว่าที่ผ่านๆ มา จะเป็นชนวนก่อสงครามแย่งน้ำ ดังที่ใครหลายคนเคยประเมินไว้
     ทว่า…”ถ้าสถานการณ์เป็นอย่างเมื่อ 10-20 ปีก่อน ก็คงเป็นเช่นนั้น เพราะระบบการส่งน้ำมีปัญหามากมาย ทั้งลำคลองธรรมชาติที่ใช้เป็นคลองส่งน้ำเกิดการตื้นเขิน มีการรั่วซึม และการส่งน้ำที่ไม่ทั่วถึง แต่ตอนนี้น่าจะ คุยกันได้ เพียงแต่ต้องมาคุยกันว่าตรงไหนต้องการน้ำอย่างไร โดยเฉพาะกรมชลประทานต้องมาคุยกับชาวบ้านในระดับพื้นที่ว่าต้องการให้ส่งน้ำตอนไหน” เสียงสะท้อนจากตัวแทนกลุ่มผู้ใช้น้ำจากตำบลนิคมทุ่งโพธิ์ทะเล อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร บ่งบอกถึงมุมคิดที่เปลี่ยนไปของเกษตรกรในพื้นที่
        นับเป็นสัญญาณที่ดีของโครงการวิจัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำในพื้นที่ชลประทานภาคกลางตอนบน ภายใต้ยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม การบริหารจัดการน้ำ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ซึ่งส่วนหนึ่งพยายามส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ โดยคาดหวังว่าในอีก 3 ปีข้างหน้าจะสามารถลดการใช้น้ำในภาพรวมลงได้ตามเป้าหมายคือ 15% และสถานการณ์ภัยแล้งปีนี้ก็เป็นโอกาสกระตุ้นให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนตนเอง เรียนรู้การจัดการท่ามกลางน้ำต้นทุนที่มีจำกัด อาทิ  เกษตรกรผู้ใช้น้ำในเขตพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง (คบ.ท่อทองแดง) จังหวัดกำแพงเพชร บางรายนอกจากการหันมาปลูกข้าวด้วยเทคนิคแบบ “เปียกสลับแห้ง”เพื่อลดการใช้น้ำ เกษตรกรที่นี่ยังมีการปรับเปลี่ยนวิถีการทำกิน รวมทั้งเริ่มมีการวางแผนระบบการผลิตสอดคล้องกับนิเวศของพื้นที่และภาวะแวดล้อมของโลกที่เปลี่ยนไป
       “สุดท้ายชาวบ้านต้องวางแผนชีวิตด้วยตนเอง ลดการใช้น้ำด้วยตัวเอง รู้ว่าปีนี้น้ำมากต้องทำอย่างไร ปีหน้าน้ำน้อยต้องทำอย่างไร” เป็นคำบอกเล่าของของ นายชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ หัวหน้าโครงการแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในระดับพื้นที่ คบ.ท่อทองแดง ที่บอกถึงปลายทางของงานวิจัยที่เน้นการออกแบบกระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม โดยเฟ้นหาตัวแทนกลุ่มผู้ใช้น้ำที่เป็นตัวจริงจากพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ทั้ง 10 ตำบลในอำเภอไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่อง มาเรียนรู้ร่วมกันผ่านการอบรมเชิงปฎิบัติการและ”เกมการเรียนรู้” ทำให้เกิดเครือข่ายความสัมพันธ์ของกลุ่มผู้ใช้น้ำ เกิดมุมมองใหม่ต่อการบริหารจัดการน้ำและมอง “น้ำ”ในความหมายใหม่ที่เป็นการมองเชิงคุณค่ามากขึ้น และ”กล้าเปลี่ยน” เปิดรับการนำเทคโนโลยีใหม่มาเป็นตัวช่วย
แล้วเกษตรกรผู้ใช้น้ำในพื้นที่มีการปรับตัวอย่างไรในภาวะแล้งเช่นนี้?
 
      นายณรงค์ ขาวทอง ผู้ใหญ่บ้านและประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำตำบลนิคมทุ่งโพธิ์ทะเล หมู่ 14 อำเภอไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร บอกว่า ที่ผ่านมาไม่เคยแล้งเท่าปีนี้มาก่อน อย่างผมปลูกมะนาว 50 ไร่ ถ้าขาดน้ำก็แย่ ในพื้นที่ตำบลนิคมทุ่งโพธิ์ทะเล นอกจากปลูกมะนาว 3,800 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นนาข้าว และปลูกอ้อยเป็นบางส่วน เคยคุยกันว่าปีนี้น้ำเขื่อนไม่ปล่อยมา เรายังมีบ่อน้ำใต้ดินเป็นแหล่งน้ำสำรองได้บ้าง แต่ถ้าปีหน้าน้ำใต้ดินแห้งอาจต้องลงทุนขุดสระ โดยแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งสัก 5 ไร่ขุดสระ ไม่เช่นนั้นจะไม่รอด
                                                                                 ณรงค์ ขาวทอง
 
     แม้จะเป็นพื้นที่ต้นน้ำ แต่การใช้ประโยชน์จากระบบชลประทานค่อนข้างน้อย พื้นที่ส่วนใหญ่ของนิคมทุ่งโพธิ์ทะเลอยู่บนที่ดอน การดึงน้ำมาใช้ในหน้าแล้งทำได้ค่อนข้างยาก แต่ในพื้นที่หมู่ 5 และหมู่ 10 ส่วนมากปลูกข้าว และมะนาว แม้จะเป็นพื้นที่ลุ่มแต่สภาพดินเป็นดินเหนียว ไม่เหมาะกับการปลูกผลไม้ จึงต้องดึงน้ำจากคลองชลประทานเข้ามากักเก็บเป็นน้ำสำรองบางส่วน ขณะเดียวกันก็ค่อยๆ เรียนรู้การปรับตัวกันไปร่วมกับกลุ่มผู้ใช้น้ำทั้งสาย
     “ที่สำคัญเราต้องรู้ว่าความต้องการใช้น้ำในตำบลมีเท่าไหร่ ต้องศึกษาว่าพืชชนิดไหนต้องการน้ำเท่าไหร่ รู้ค่าความชื้นในดินที่เหมาะสม ซึ่ง ณ ตอนนี้ในตำบลยังขาดข้อมูลในส่วนนี้ ถ้าเรารู้ความต้องการการใช้น้ำ จะช่วยในการวางแผนการบริหารจัดการน้ำได้ดีขึ้น” ผู้ใหญ่ณรงค์ บอก
                                                                               จรัส โพธิ์ศรี  
        ทางด้านตัวแทนตำบลหนองไม้กอง โดย นายจรัส โพธิ์ศรี ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำ ตำบลหนองไม้กอง อำเภอไทรงาม เล่าว่า า ตำบลหนองไม้กอง อยู่ส่วนของปลายน้ำ พื้นที่ส่วนใหญ่ทำนา ได้รับประโยชน์จากการขุดลอกคลองท่อทองแดงเมื่อปี 2548 ทั้งมีการวางแผนการขุดคลองกระจายน้ำ ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องการส่งน้ำ แต่มาปีนี้น้ำเริ่มแห้ง ฝนตกในพื้นที่น้อยมาก ถ้าไม่ได้น้ำจาก คบ.ท่อทองแดงไปเติม การเกษตรแทบจะไม่ได้ผลผลิต เช่นพื้นที่รอยต่ออำเภอวชิรบารมี พื้นที่ทำนา 10 ไร่ ได้ผลผลิตเพียง 1-2 ตัน โชคดีที่มีการวางแผนจัดสรรน้ำจึงพ้นวิกฤตมาได้
ปรับเปลี่ยนการทำเกษตร หันมาใช้ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง
         ขณะที่ นายสุชาติ กาละภักดี สมาชิก อบต.หนองไม้กอง  ในฐานะเลขากลุ่มผู้ใช้น้ำ ตำบลหนองไม้กอง เล่าว่า ชาวบ้านพยายามปรับเปลี่ยนการทำเกษตร หันมาใช้ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง จากปลูกพืชล้มลุกเปลี่ยนมาเป็นไม้ยืนต้น เช่น ไผ่หวาน มะม่วง กล้วย ฯลฯ รวมไปถึงจัดการระบบกระจายน้ำ มีคันคลองสำหรับประคองน้ำไม่ให้ล้น และยกระดับน้ำให้กระจายไปเต็มพื้นที่ รวมทั้งมีการกักเก็บน้ำกระจายอยู่ทั่วไปเป็นแหล่งน้ำสำรองเพื่อบรรเทาภัยแล้ง
      “ในอดีตการทะเลาะแย่งน้ำกันอาจมีบ้าง แต่เมื่อมีการขุดลอกคลอง จัดการระบบกระจายน้ำ รวมทั้งมีการประสานงานกันในระดับผู้นำชุมชน มีการทำฝายน้ำล้น ก็ไม่มีปัญหา” นายสุชาติ กล่าว และบอกว่า ปัญหาหลักคือ ชาวบ้านยังใช้น้ำสิ้นเปลืองโดยไม่รู้ว่าพืชแต่ละชนิดต้องการน้ำอย่างไร และเราจะปรับเปลี่ยนการใช้น้ำอย่างไร บางคนดึงน้ำจนล้นจนท่วม พอรับรู้ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง รู้ว่าข้าวต้องการน้ำมากเฉพาะช่วงตั้งท้องออกรวง ก็มีการปรับลดการใช้น้ำ ชาวบ้านค่อยๆ เรียนรู้จากการลงมือทดลองเองและจากความรู้ที่นักวิชาการเข้ามาเสริมให้ ถือว่าเรียนรู้ได้ดี
        สำหรับในช่วงแล้ง นายสุชาติบอกว่า ผู้นำกลุ่มจะเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในเขื่อน ตรวจเช็คปริมาณน้ำฝนเพื่อประเมินว่ามีน้ำเพียงพอแก่การทำนาหรือไม่ อย่างไร และประชาสัมพันธ์ให้กับคนในกลุ่มรับทราบ
     
        เหล่านี้เป็นความเห็นเพียงส่วนเดียวจากตัวแทนเกษตรกรผู้ใช้น้ำที่ นายชิษนุวัฒน์ บอกว่า ตลอดการลงพื้นที่ทำวิจัยร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ในช่วงที่ผ่านมาสิ่งที่พบและทำให้มั่นใจว่า เกษตรกรมีความเข้มแข็งมากขึ้น สามารถวางแผนการจัดการน้ำและปรับเปลี่ยนระบบการผลิตได้ตามบริบทของพื้นที่ได้เป็นอย่างดี เพราะวันนี้มุมมองต่อน้ำของเกษตรกรกลุ่มนี้เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด จากเดิมที่เน้นแก้ไขปัญหาเพื่อให้ได้น้ำ แต่ตอนนี้เขาปรับตัวเองใหม่ให้อยู่กับน้ำที่เขาได้ ไม่ได้บ่นว่าเขาได้น้ำน้อย แต่คิดว่าจะจัดการกับน้ำที่มีอย่างไร
          นี่เป็นตัวอย่างของเกษตรที่ผ่านการอบรมเชิงปฎิบัติการและเกมการเรียนรู้  ที่ทำให้เกิดเครือข่ายความสัมพันธ์ของกลุ่มผู้ใช้น้ำ เกิดมุมมองใหม่ต่อการบริหารจัดการน้ำและมอง “น้ำ”ในความหมายใหม่ ที่เป็นการมองเชิงคุณค่ามากขึ้น และ “กล้าเปลี่ยน” เปิดรับการนำเทคโนโลยีใหม่มาเป็นตัวช่วยจนประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่ง
หมายเหตุ :  เป็นบทความจาก ฝ่ายสื่อสาร แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย ด้านสังคม แผนงานการบริหารจัดการน้ำ มีการเติมคำบ้างเล็กน้อยเพื่อความเหมาะสม