สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์
กระทรวงพลังงาน เผยผลประเมินการใช้พลังงานช่วงสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 พบว่าระยะสั้นความต้องการใช้พลังงานลดลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง ระบุสาเหตุมาจากการกำหนดมาตรการของรัฐที่จำกัดการเดินทาง กำหนดระยะห่างทางสังคม และการระงับการโดยสารทางอากาศ ชี้แนวโน้มตลอดสิ้นปี 2563 ความต้องการใช้ลดลงทุกประเภท ทั้งไฟฟ้า น้ำมัน และก๊าซ “สนธิรัตน์” ยอมรับตลอดช่วงวิกฤตทุกหน่วยงานในสังกัดทำอย่างอย่างหนักแบบไม่มีวันหยด ประกาศพร้อมที่จะเดินหน้าแก้ปัญหาต่อไป ล่าสุดสั่งการให้ผู้บริหารทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและทุกฝ่าย เตรียมหามาตรการช่วยเหลือประชาชนในด้านพลังงานในทุกมิติ และทุกแง่มุม เพื่อฟื้นฟูชีวิตของประชนชน จนกว่าวิกฤตการณ์โควิด-19 จบสิ้นลง
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้ประเมินผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่มีต่อภาคพลังงาน พบว่า ในระยะสั้นส่งผลต่อความต้องการใช้พลังงานลดลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงที่เป็นผลมาจากการกำหนดมาตรการที่จำกัดการเดินทาง การกำหนดระยะห่างทางสังคม และการระงับการโดยสารทางอากาศ
ส่วนผลกระทบในระยะกลาง จะทำให้ความต้องการพลังงานลดลงตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลง โดยเฉพาะความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาพรวมการใช้ไฟฟ้า ช่วงเดือน ม.ค.- 13 เม.ย. 63 มีความต้องการใช้ไฟฟ้าในระบบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นเพียง 1.55% คาดว่าเมื่อถึงสิ้นปี 2563 ความต้องการใช้ไฟฟ้าจะลดลง 0.69% เมื่อเทียบกับปี 2562 คือเหลือเพียง 196,873 ล้านหน่วย จากเดิมที่คาดว่าอยู่ที่ 197,873 ล้านหน่วย และความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือพีคไฟฟ้าจะลดลง 2.9% เหลือเพียง 29,957 เมกะวัตต์ จากเดิมที่คาดว่าจะพีคไฟฟ้าอยู่ที่ 30,853 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตามความสามารถของกำลังการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ในช่วงสถานการณ์ภัยแล้งยังสามารถดำเนินการได้โดยไม่กระทบต่อระบบไฟฟ้าแต่อย่างใด
ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง ความต้องการใช้ช่วงไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.63) มีแนวโน้มลดลง โดยการใช้น้ำมันเบนซินอยู่ที่ 30.5 ล้านลิตรต่อวัน ลดลง 5.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปี 2562 ซึ่งเมื่อเทียบการใช้ในเดือน เม.ย. 63 อยู่ที่ 23.1 ล้านลิตรต่อวัน กับ มี.ค.63 ซึ่งอยู่ที่ 28.0 ล้านลิตรต่อวันมีปริมาณลดลงถึง 17.5%
ส่วนน้ำมันดีเซลแม้ว่าช่วงไตรมาสแรกปีนี้จะใกล้เคียงกับปีที่แล้วคืออยู่ที่ประมาณ 64.4 ล้านลิตรต่อวัน แต่เมื่อเทียบการใช้เดือนเม.ย.ที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 56.1 ล้านลิตรต่อวันกับเดือน มี.ค.ก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 64.0 ล้านลิตรต่อวัน ปริมาณการใช้ดีเซลก็ลดลงถึง 12.3%
สำหรับก๊าซธรรมชาติ ความต้องการใช้ช่วงไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.63) อยู่ระดับคงที่ประมาณ 4,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ทั้งนี้ คาดว่าตั้งแต่ เม.ย. จนถึงสิ้นปี 2563 ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติเมื่อเทียบกับแผนเดิมจะมีแนวโน้มลดลงเฉลี่ยประมาณ 557 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือลดลง 12% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจและราคาน้ำมันในตลาดโลก ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติที่ลดลงส่วนใหญ่คาดว่าจะมาจากความต้องการใช้ที่ลดลงของโรงแยกก๊าซธรรมชาติ (GSP) ที่มีปริมาณการใช้เฉลี่ยที่ 254 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน รองลงมาคือภาคอุตสาหกรรม ที่มีปริมาณการใช้เฉลี่ยที่ 152 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และภาคไฟฟ้า ที่มีปริมาณการใช้เฉลี่ยที่ 126 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
“วันนี้กระทรวงพลังงานทำงานอย่างหนัก เราไม่เคยหยุดนิ่งเลย เราระดมทุกเครื่องมือ และทุกสรรพกำลังในการต่อสู้กับโควิด-19 ร่วมกับรัฐบาลและประชาชนคนไทยทั้งประเทศอยู่อย่างไม่หยุดยั้ง นอกจากจะดูแลสถานการณ์ด้านพลังงานอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบใดๆ กับพี่น้องประชาชนแล้ว ผมยังได้สั่งการให้ผู้บริหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เตรียมงานและมาตรการต่างๆ ออกมารองรับและช่วยเหลือประชาชนในด้านพลังงานในทุกมิติ และทุกแง่มุม ซึ่งจะทำทั้งในช่วงเวลานี้และในช่วงหลังวิกฤตการณ์โควิด-19 จบสิ้นลงแล้ว โดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือและฟื้นฟูชีวิต และความเป็นอยู่ของประชาชนโดยรวม” นายสนธิรัตน์ กล่าว