“ประภัตร”ลงพื้นที่สุพรรณฯแจกไข่-หน้ากากอนมัย-บี้กรมปศุสัตว์ให้เร่งมอบพันธุ์สัตว์ปีกให้ผู้ประสบภัย

  •  
  •  
  •  
  •  

“ประภัตร” ลงพื้นที่ลุยตลาดสดเมืองทอง อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี นำทีมแจกไข่ไก่-น้ำมัน ช่วยบรรเทาความเดือดร้านของชาวบ้านที่กระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 และมอบหน้ากาก Face Shield แจกบุคลากรการแพทย์ 4 อำเภอ ใน จ.สุพรรณ สู้ไวรัสโคโรนา 2019 พร้อมไล่บี้กรมปศุสัตว์ เร่งมอบพันธุ์สัตว์ปีก และปัจจัยการผลิต ตามโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ปีก เพื่อฟื้นฟูเกษตรกรที่ประสบปัญหาอุทกภัย​ และพื้นที่ภัยแล้งให้ครบ 17 จังหวัด

    นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า วันนี้ตนและคณะได้ลงพื้นที่แจกไข่ไก่และน้ำมันพืชให้กับประชาชน เพื่อเป็นการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อน พร้อมให้กำลังใจพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ณ ตลาดสดเมืองทอง อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี โดยในเบื่องต้นจะทยอยแจกจ่ายให้ครบทั้ง 4 อำเภอ  ใน จ.สุพรรณบุรี ได้แก่ อ.ดอนเจดีย์ อ.สามชุก อ.ศรีประจันต์ และ อ.อู่ทอง จากนั้น เดินทางไปยังสำนักงานสาธารณสุข อำเภอดอนเจดีย์ เพื่อมอบหน้ากาก Face Shield หรือหน้ากากป้องกันละอองเชื้อ ที่ทีมงานจัดทำขึ้น เพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ขณะปฏิบัติหน้าที่ป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 พร้อมทั้งให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน

        อย่างไรก็ตาม ทางทีมงานได้จัดเตรียม Face Shield ที่ทำขึ้นเพื่อแจกจ่ายให้กับโรงพยาบาลประจำอำเภอ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) แห่งละ 300-500 ชิ้น ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มมอบให้กับ โรงพยาบาลใน 4 อำเภอดังกล่าวไปบ้างแล้ว นอกจากนี้ได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์เร่งมอบพันธุ์สัตว์ปีกและปัจจัยการผลิต ตามโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ปีก เพื่อฟื้นฟูเกษตรกรที่ประสบปัญหาอุทกภัย​ และพื้นที่ภัยแล้งที่ผ่านมา เพื่อเป็นอาชีพเสริม ช่วยลดรายจ่าย และเป็นอาหารประเภทโปรตีนในครัวเรือน เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชนเบื้องต้นทั้งจากสถานการณ์ภัยแล้งและสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงนี้ด้วย

    นายประภัตร กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน กรมปศุสัตว์ได้ส่งมอบพันธุ์สัตว์ปีก เป็นพันธุ์ไก่พื้นเมือง อายุ 1 เดือน รายละ 30 ตัว หรือพันธุ์ไก่ไข่ หรือพันธุ์เป็ดไข่อายุ 16- 18 สัปดาห์ รายละ 10 ตัว พร้อมอาหารระยะแรกและปัจจัยการผลิตแล้ว กว่า 5,000 ครัวเรือน จากเป้าหมาย 77,765 ครัวเรือน ตามแนวทางฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคที่เหมาะสมและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (Good Farming Management : GFM) ซึ่งเมื่อเลี้ยงต่ออีก 2-3 สัปดาห์ก็จะให้ผลผลิตไข่ได้ โดยเกษตรกรสามารถนำมาบริโภคในครัวเรือนเป็นอาหารประเภทโปรตีน ช่วยลดค่าใช้จ่าย บรรเทาความเดือดร้อนได้ 

     ทั้งนี้ การสนับสนุนพันธุ์สัตว์ปีกดังกล่าวนั้นเป็นการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติในจังหวัด  ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและอุทกภัยเมื่อปี 2562 รวม 17 จังหวัด โดยได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่าย รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ.2562 จำนวน 378,188,450 บาท ทั้งนี้ มีเป้าหมายที่จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2563 นี้