กกพ.มีตมิแล้ว ลดค่าไฟทุกประภท 3% เป็นเวลา 3 เดือนมีผลทันทีรอบบิลเดือนเม.ย.-มิย.63  

  •  
  •  
  •  
  •  

คมกฤช ตันตระวาณิชย์

มติที่ประชุม กกพ. ผุดแพคเกจเยียวยาผู้ใช้ไฟฟ้าลดค่าไฟทุกประเภท  3% พร้อมให้ยกเว้นการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าขั้นต่ำกับผู้ใช้ไฟรายใหญ่ ช่วยเหลือประชาชนที่กำลังได้รับผลกระทบขากการแพร่ระบาดไวรัส โควิด-19 ให้มีผลทันที รอบบิล เดือนเม.ย.- มิ.ย. 2563 เป็นเวลา 3 เดือน มีความพร้อมดูแลเสถียรภาพค่าไฟต่อเนื่อง

      หลังจากมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่ 17 มี.ค.63 ไฟเขียวลดค่าน้ำค่าไฟทุกประเภท 3 % เป็นเวลา 3 เดือน นับตั้งแต่เดือน เม.ย.-มิ.ย.63 คิดเป็นวงเงิน 5,490 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (COVID-19) พร้อมขยายระยะเวลาการชำระค่าไฟฟ้า ให้ธุรกิจโรงแรม และกิจการให้เช่าพักอาศัย โดยไม่คิดดอกเบี้ย ผ่อนปรนไม่งดจ่ายไฟฟ้าไปแล้วนั้น

       ล่าสุดนายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักกกพ.) ในฐานะ โฆษก กกพ. เปิดเผยว่า การประชุม กกพ. มีมติเห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ลดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสุทธิที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วลงอีก 3% ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภท โดยจะเร่งดำเนินการให้มีผลในการเรียกเก็บค่าบริการ ตั้งแต่ เม.ย.-มิ.ย. 2563 รวมเป็นระยะเวลา 3 เดือน งคาดว่าจะใช้เงินบริหารค่าไฟฟ้า ประมาณ 5,610 ล้านบาท เพื่อบริหารจัดการมาตรการดังกล่าว

       “การลดค่าไฟฟ้าลงอีก 3% เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการลดค่าไฟฟ้า บรรเทาค่าครองชีพให้กับประชาชน และลดต้นทุนให้กับภาคธุรกิจในช่วงวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19” นายคมกฤช กล่าว

       เลขาธิการ สำนักกกพ. กล่าวอีกว่า  ในส่วนมาตรการลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ จากการประกาศใช้พระราชกำหนด เพื่อการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน กกพ. ยังได้มีมติให้ผ่อนผันยกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด (Minimum Charge) เป็นการชั่วคราวให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 3 ประเภทที่ 4 ประเภทที่ 5 ประเภทที่ 6 และประเภทที่ 7 ให้มีผลตั้งแต่ เม.ย.–มิ.ย. 2563 รวม 3 เดือน ส่งผลให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทดังกล่าวที่ปัจจุบันต้องเสียค่าความต้องการพลังไฟฟ้า (Demand Charge) ซึ่งคิดจากค่าไฟฟ้าในอัตราขั้นต่ำ จะเสียความต้องการพลังไฟฟ้า (Demand Charge) ตามความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดที่ใช้จริง

     นอกจากนี้ สำนักงาน กกพ. ยังคงติดตามประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาด โควิด-19 ในส่วนที่มีผลกระทบกับค่าไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นความต้องการการใช้ไฟฟ้าที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ต้องพิจารณาปัจจัยทั้งในด้านของอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าตามภาวะเศรษฐกิจโลก ค่าซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าสำนักงาน กกพ. ยังคงมีเงินบริหารค่าไฟฟ้าเพียงพอที่จะดูแลค่าไฟฟ้าให้มีเสถียรภาพตลอดปี 2563