ปลัดเกษตรฯจี้ทุกหน่วยงานปฏิบัติงานตามที่รัฐบาลกำหนด แต่..ต้องไม่กระทบในการบริการให้กับประชาชน

  •  
  •  
  •  
  •  

ปลัดเกษตรฯ VDO Coference รับฟังรายงานผลการดำเนินงานจากหน่วยงานในสังกัดในช่วงสถานการณ์โควิด-19 กำชับทุกหน่วยงานปฏิบัติงานภายใต้ประกาศที่ทางรัฐบาลกำหนด แต่ต้องไม่กระทบกับการบริการให้กับประชาชน พร้อมทั้งให้หาแนวทางหรือมาตรการในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในปัจจุบัน เพื่อใก้การช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ

       นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมศูนย์ประสานการปฏิบัติภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า กระทรวงเกษตรฯได้มีการประมวลสรุปรายงานสถานการณ์และผลการดำเนินงานเฝ้าระวัง ป้องกัน และเตรียมความพร้อมในการรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นประจำทุกวัน โดยข้อมูล ณ วันที่ 29 มี.ค. 63 มีมาตรการป้องกันของกระทรวงเกษตรฯ ด้านบุคลากร ในการตรวจวัดอุณหภูมิ วางเจลล้างมือ ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ จัดทำแผนปฏิบัติงานของบุคลากร ออกประกาศมาตรการป้องกัน และจัดที่พักให้บุคลากร

      สำหรับด้านสถานที่ ได้มีการฉีดพ่น/ทำความสะอาด จัดให้มีระยะห่างทางสังคมของผู้ปฏิบัติงาน และการปิดสถานที่ อีกทั้งหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ยังได้เตรียมความพร้อมในการให้บริการแก่ประชาชน/เกษตรกร/ผู้ประกอบการ อาทิ การให้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือระบบออนไลน์ ทั้ง Mobile Application ได้แก่ Line Facebook รวมถึงบริการให้คำแนะนำผ่าน Call Center ด้วย

        นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับฟังการรายงานผลการดำเนินงานจากหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงเกษตรฯ ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ในการวิเคราะห์ผลกระทบและความเสี่ยงทางด้านการเกษตรจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กรมส่งเสริมการเกษตร ได้มีการประเมินสินค้าที่ได้รับผลกระทบ ทั้งมะม่วง ที่ผลิตเพื่อการส่งออก พืชผัก ที่กระทบกับผู้ขายรายย่อย ผลไม้ ในการเพิ่มช่องทางพิเศษในการขนส่ง และไม้ดอก ในการจัดหาตลาดรองรับ กรมปศุสัตว์ รายงานสถานการณ์ไข่ไก่ โคเนื้อ สุกร และนมโค ที่มีเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ รวมถึงการเฝ้าระวังโรคระบาดสัตว์

       กรมประมง รายงานการส่งออกสินค้าประมง โดยเฉพาะอาหารสดและอาหารแช่แข็ง ที่คาดว่าจะลดลงประมาณ 10 – 20% เมื่อเทียบกับปี 2562 การนำเข้าสินค้า มีแนวโน้มลดลง และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ สินค้าที่อาจได้รับผลกระทบ คือ กุ้ง ปลาน้ำจืด และปลาสวยงาม โดยได้มีการกำหนดมาตรการแก้ไขในระยะสั้นไว้ กรมการข้าว รายงานผลผลิตข้าวนาปี จำนวน 24 ล้านตัน เพียงพอสำหรับการบริโภคภายในประเทศ และความก้าวหน้าการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวให้แก่เกษตรกรที่ประสบอุทกภัยและภัยแล้งปี 2562

       ด้านกรมส่งเสริมสหกรณ์ รายงานการกระจายสินค้าผ่านช่องทางสหกรณ์การเกษตรกว่า 1,300 แห่งทั่วประเทศ และการลดภาระหนี้สินให้กับสมาชิกสหกรณ์ และกรมวิชาการเกษตร รายงานผลการบริการ การตรวจรับรองมาตรฐานสินค้าพืช และการตรวจรับรองโรงงานคัดบรรจุ สำหรับการส่งออกที่จะต้องได้รับมาตรฐาน GAP

    อย่างไรก็ตาม ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติงานภายใต้ประกาศที่ทางรัฐบาลกำหนด แต่ต้องไม่กระทบกับการบริการให้กับประชาชน อีกทั้งให้หาแนวทางหรือมาตรการในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในปัจจุบันด้วย