ระวัง!!กลับภูมิลำเนาจะถูกกักตัวทันที นายกฯประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว มีผล 26 มี.ค.63 สกัด”โควิด-19″

  •  
  •  
  •  
  •  

 ในที่สุดนายกรัฐมนตรี ต้องประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หลังจากได้รับความเห็นจากคณะรัฐมนตรี และให้มีผลในวันที่ 26 มีนาคม 2563นี้ พร้อมยกระดับศูนย์โควิด -19 เป็นศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินโควิด -19 หวังแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ให้อยู่หมัด เน้นไม่ให้ประชาชนกลับผู้มิลำเนา เพราะจะถูกกักตัวดุจเดียวกับคนที่มาจากต่างประเทศ

       พลเอกประยุทธ์ ออกมาแถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 24 มีนาคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลพิจารณามาโดยตลอดเรื่องประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) จะประกาศใช้ในวันมะรืนนี้ (26 มี.ค.63) และได้หารือมาตรการอื่นๆ ที่จำเป็นแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือจัดระเบียบการทำงาน ยกระดับศูนย์โควิด -19 เป็นศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินโควิด -19 หรือ ศอฉ.โควิด -19 ในการแก้ปัญหา โดยกระบวนการข้างล่างจะมีคณะทำงาน โดยมีปลัดกระทรวงของแต่ละภารกิจเป็นผู้รับผิดชอบ เพื่อติดตามมาตรการที่ประกาศไปแล้ว อาจมีการปรับปรุงแก้ไข หรือ เสนอมาตรการขึ้นมาเพิ่มเติม ให้นายกรัฐมนตรีอนุมัติ เพราะอำนาจกฎหมาย 38 ฉบับ ของทุกกระทรวงจะมาอยู่ที่นายกฯทั้งหมด  เพื่อให้เกิดดำเนินการอย่างแท้จริง และจะมีการประชุมทุกวันในเวลา 09.30 น. โดยหัวหน้าส่วนดำเนินการทั้งหมด จะมารายงานการบริหารให้ทราบ ถ้ามีอะไรเพิ่มเติมก็จะออกเป็นข้อกำหนดต่อไป

       สำหรับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน สาระสำคัญที่สุดคือการจัดตั้งคณะกรรมการผู้รับผิดชอบภายในศูนย์ว่า จะจัดการกันอย่างไร ข้อกำหนดสามารถออกได้ตลอดเวลา เบื้องต้นในระยะที่ 1 ทำอย่างไรที่จะลดการแพร่ระบาดในพื้นที่ต่างๆ อาจขอความร่วมมือ หรือบังคับบ้าง แต่จะปิดจะเปิดเป็นมาตรการระยะต่อไป อาจจะเข้มข้นขึ้น ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของประชาชน ไม่อยากให้ใครเดือดร้อน โดย ระยะที่ 1 จะประกาศในวันที่ 26 มี.ค.63  ซึ่งรัฐบาลมีความมุ่งมั่นเต็มที่ ที่ดูแลสุขภาพของประชาชนให้มากที่สุด ขอให้ร่วมมืออย่าเพิ่งเดินทางกลับภูมิลำเนา หากจะต้องกลับก็จะต้องเจอมาตรการการคัดกรองการตรวจสอบต่างๆ อีกมากมาย เหมือนกับคนที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ

    “เราจะเน้นความสำคัญกักตัวในที่บ้าน กักตัวในพื้นที่ ถ้ามีความจำเป็นเราก็มีสถานที่กักตัวของรัฐเพิ่มเติมขึ้นถ้ามี ติดเชื้อจำนวนมาก ต้องหามาตรการอื่นๆ มารองรับ อาทิ โรงพยาบาลสนาม ที่กักตัวขนาดใหญ่เป็นร้อยเป็นพันคน พร้อมมีเวชภัณฑ์ต่างๆ ต้องจัดหาให้พอ ตอนนี้มีการช่วยเหลือจากต่างประเทศเข้ามาแต่ก็ยังไม่เพียงพอ ต้องมีการจัดหาจัดซื้อเพิ่มเติม  แต่ปัญหาคือจะหาจากที่ไหน ในเมื่อเมื่อทุกประเทศมีความต้องการสิ่งเหล่านี้มากอยู่เหมือนกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะหารือในที่ประชุมของ ศอฉ.แต่ละวันใน อย่าตื่นตระหนก ถ้าตระหนกก็มีปัญหา เราต้องฟังรัฐบาล” พลเอกประยุทธ์ กล่าว

      นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ในแต่ละวัน ศอฉ. จะมีการให้ข่าวให้ข้อมูลทั้งวันสื่อโซเชียลต่างๆ ตั้งแต่เช้าถึงเย็น มีช่องทางให้ประชาชนสอบถามให้ตรงกับเวลาดังกล่าว และจะมีการสรุปประเด็นสำคัญในแต่ละวัน แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขอให้ระมัดระวังในการใช้สื่อโซเชียล การให้ข่าวสารบิดเบือน ซึ่ง พ.ร.ก. ฉบับนี้ จะแต่งตั้งเจ้าพนักงานทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร ในการจัดตั้งด่านตรวจ จุดสกัด เตรียมความพร้อมต่าง ๆ ในการทำงาน และจะมีการปรับมาตรการต่าง ๆ ให้เข้มงวดขึ้นหากยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้  โดยทุกอย่างขอให้เป็นไปตามขั้นตอน

     นอกจากนี้ที่ประชุม ครม.ได้เห็นชอบ มาตรการที่สำคัญ เน้นหนักในด้านให้ประชาชนจะมีเงินใช้จ่ายในช่วงนี้ แต่กระนั้นขอให้ประชาชนใช้จ่ายอย่างประหยัด อย่างพอเพียงด้วย เพื่อดำรงชีวิตอยู่ได้ รัฐบาลจะดูแลระยะเวลาหนึ่งจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย อาจจะ 2 -3 เดือน โดยจะมีมาตรการทยอยออกมาตามลำดับ เพราะไม่ทราบว่าสถานการณ์จะยาวนานแค่ไหน ล่าสุดจากรายงานของกระทรวงสาธารณสุข มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 3 ราย ผู้ที่มีอายุมาก 70 ปีขึ้นไป รักษาพยาบาลมานานพอสมควรแล้วทาง สธ.จะชี้แจงสาเหตุการเสียชีวิตต่อไป

     ส่วนมาตรการระยะที่ 2 จำเป็นต้องปรับให้กับสถานการณ์ จำเป็นต้องหาเงินให้เพียงพอ ซึ่งกำลังหามาตรการอาจใช้เงินกู้บ้าง เพราะงบประมาณ 63 ค่อนข้างจำกัด งบกลางจ่ายพอสมควรแล้วเหลือน้อยมาก ต้องหามาตรการมาเข้าระบบให้มากขึ้น จะจัดทำ พ.ร.ก.กู้เงินของกระทรวงการคลังเพื่อเตรียมการมาตรการระยะที่ 3 ที่ 4 ต่อไป จะดูแลประชาชนให้มากที่สุด ทั้งในส่วนสถานประกอบการเพื่อลดการ lay off พนักงาน มีมาตรการรองรับผู้ประกอบการให้เกิดสภาพคล่อง ทั้งภาษี ธนาคารรัฐจะเข้ามาอำนวยความสะดวกให้

      “ขอฝากกับสื่อ ผู้ใช้โซเชียล ในการตรวจสอบทั้งสิ้น ทุกคนมีอำนาจในทางคดีอาญา สามารถจับกุมดำเนินคดี ไม่ว่าการกักตุนสินค้า การขึ้นราคาสินค้า จะมีความเข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ เข้าใจทุกคนรักประเทศ แต่ต้องรักในวิธีที่ถูกต้อง ให้เป็นไปตามกฎหมาย และเชื่อมั่นในการทำงานของรัฐบาลด้วย” พลเอกประยุทธ์ กล่าว

ที่มาข้อมูล-ภาพ : ข่าวทำเนียบรัฐบาล

      หมายเหตุ-สำหรับเนื้อหาสาระสำคัญของพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มีทั้งหมด 19 มาตรา แต่ที่ควรระวังและคสรไว้ คือมาตรา 9 ระบุว่า ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงได้โดยเร็ว หรือ ป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกข้อกำหนด คือ ห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือ เป็นบุคคลซึ่งได้รับการยกเว้น

      ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย, ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน

      ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ,  ห้ามการใช้อาคาร หรือเข้าไปหรืออยู่ในสถานที่ใด ๆและให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนดเพื่อความปลอดภัยของประชาชนดังกล่าว หรือห้ามผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ที่กำหนด

     หากผู้ใดฝ่าฝืนตามมาตรา 9 ใน มาตรา 18 ข้อกำหนดบทลงโทษ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ