ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์
สทนช. เร่งสร้างความรู้ ความเข้าใจ เสริมความเข้มแข็งภาคประชาชน 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขง รับมือผลกระทบข้ามพรมแดนควบคู่กับการรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในแม่น้ำโขง สายประธานพร้อมชู อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี เป็นชุมชนนำร่องถ่ายทอดองค์ความรู้การวางแผนรับมือการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ โดยนำหลักวิชาการผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สทนช.ได้มีการสรุปผลการศึกษา “โครงการสร้างความเข้มแข็งกลุ่มเครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่ 8 จังหวัด ริมแม่น้ำโขง” โดยดำเนินการ ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับคนในชุมชนพื้นที่ 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขง ที่ประกอบด้วย จังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี เพื่อให้คนในชุมชนและภาคประชาสังคมมีความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักต่อการเปลี่ยนแปลงระบบการไหลของน้ำและระบบนิเวศในแม่น้ำโขง ที่เกิดขึ้นจากผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนในการก่อสร้างโครงการไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขงสายประธาน เกิดเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคประชาชนในการร่วมติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ในแม่น้ำโขง รวมทั้งสร้างพื้นที่ต้นแบบในการนำเอาองค์ความรู้ท้องถิ่นผสมผสานหลักการทางวิชาการ
ทั้งนีเพื่อวางแผนรับมือและปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ก่อเกิดเป็นภูมิปัญญาในการแก้ไขปัญหาของชุมชน โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2562 และคาดว่าจะแล้วเสร็จในวันที่ 24 มีนาคม 2563 ซึ่งได้มีการคัดเลือกตัวแทนชุมชนในแต่ละจังหวัด อย่างน้อยจังหวัดละ 1 ชุมชน เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำแผนสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ที่สอดคล้องกับบริบทวิถีชีวิตและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในลุ่มน้ำโขงได้อย่างแท้จริง
ดร.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า ตลอดระยะเวลา 6 เดือนในการศึกษาโครงการฯ สทนช. ได้รับความร่วมมือจากแกนนำเครือข่ายทั้ง 8 จังหวัดเป็นอย่างดี โดย สทนช. ได้แนะนำช่องทางการติดตามสถานการณ์แม่น้ำโขงให้แก่เครือข่าย และนำคืนข้อมูลการศึกษาผลกระทบให้แก่ชุมชน เพื่อให้ชุมชนสามารถวางแผนป้องกันและรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศได้ด้วยตัวเอง โดยในปีนี้ สทนช. จะนำข้อเสนอจากภาคประชาชนที่ได้ทั้ง 3 ประการ ไปต่อยอดขยายผล คือ
1.การจัดกิจกรรมให้แกนนำและเครือข่ายทั้ง 8 จังหวัด ได้แลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร พัฒนาศักยภาพการจัดทำแผนชุมชน โดยเพิ่มช่องทางการนำไปสู่การปฏิบัติ ผ่านอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด กรรมการลุ่มน้ำ และองค์กรปกครองท้องถิ่น เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณและผลักดันกิจกรรม, 2.การต่อยอดข้อเสนอของชุมชนที่ได้รับการคัดเลือกในปีที่ผ่านมา คือ อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี โดยเสนอให้เกิดนักวิจัยท้องถิ่นในการติดตามประเมินผลระบบนิเวศวิทยาทางน้ำและการประมงของพื้นที่ตนเอง ตามหลักวิชาการผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น, และ 3.การคัดเลือกชุมชนนำร่องเพิ่มเติม เพื่อนำไปเป็นต้นแบบ ขยายผลให้แก่ชุมชนอื่น ๆ ได้รับทราบอย่างกว้างขวางต่อไป
สำหรับโครงการสร้างความเข้มแข็งกลุ่มเครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่ 8 จังหวัด ริมแม่น้ำโขง ได้มีการจัดเวทีการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ไปแล้วจำนวนทั้งสิ้น 3 ครั้ง ได้แก่ เวทีที่ 1 การประชุมปฐมนิเทศ เพื่อเป็นการสื่อสารความเข้าใจโครงการ แนวทางการดำเนินงานอย่างมีส่วนร่วม และร่วมกันในการพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมจากการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2562 ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย จังหวัดหนองคาย
เวทีที่ 2 การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เป็นการวางแผนมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบแบบมีส่วนร่วมในพื้นที่ตัวอย่างนำร่อง ซึ่งได้เลือกพื้นที่อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี เป็นพื้นที่นำร่องพร้อม ทั้งการวางแผนพื้นที่เปราะบางให้มีการแก้ไขปัญหาของชุมชน เพื่อรองรับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรน้ำและระบบนิเวศในแม่น้ำโขง เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ตำบลสองคอน อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี และเวทีที่3 การประชุมปัจฉิมนิเทศในวันนี้ จัดขึ้นเพื่อเป็นการสรุปโครงการ รวมถึงการนำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและวางแผนมาตรการแผนการแก้ไขปัญหาของชุมชน เพื่อรองรับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรน้ำและระบบนิเวศในแม่น้ำโขง โดยมีภาคประชาสังคมประกอบไปด้วยแกนน้ำเครือข่ายทั้ง 8 จังหวัด เข้าร่วมจังหวัดละ 5 คน รวม 40 คน
อย่างไรก็ตาม ทางสทนช.ได้พยายามสร้างกลไกระดับท้องถิ่น ให้เข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการน้ำมากยิ่งขึ้น ผ่านคณะกรรมการลุ่มน้ำ และอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดทุกจังหวัดที่ท่านรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งเรียบร้อยแล้วซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ที่จะทำให้เครือข่ายมีความเข้มแข็งและเข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการน้ำมากยิ่งขึ้น