สทนช.เปิดเวทีครั้งที่ 2 แจงข้อมูลการสร้าง“เขื่อนหลวงพระบาง” เร่งเก็บกังวลคนไทย8 จว.เสนอ สปป.ลาว 

  •  
  •  
  •  
  •  

 สทนช. ลงพื้นที่อำนาจเจริญ เปิดเวทีเป็นครั้งที่ 2 ร่วมให้ข้อมูลโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนหลวงพระบาง ตามระเบียบปฏิบัติของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง เรื่อง การแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง เพื่อรวบรวมข้อกังวลด้านผลกระทบของประชาชน 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขง กำหนดเป็นท่าทีของไทย สะท้อนผ่านกลไก PNPCA ไปยัง สปป.ลาว

      วันที่ 28 มกราคม 2563 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จัดเวทีให้ข้อมูล โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตามระเบียบปฏิบัติของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง เรื่อง การแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง ครั้งที่ 2 (Procedures for Notification, Prior Consultation and Agreement, PNPCA) ณ ห้องประชุมวิทยาลัยเทคนิคอำนาจเจริญ อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ  โดยมี นายประดับ กลัดเข็มเพชร รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานพิธีเปิด และนายพิจิตร บุญทัน รองผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ กล่าวให้การต้อนรับ พร้อมด้วยผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 150 คน ประกอบด้วย ดร.จันสะแหวง บุนยง อธิบดีกรมนโยบายและแผนพลังงาน สปป.ลาว ผู้แทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจากส่วนกลางและพื้นที่ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภาคประชาชนในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดมุกดาหาร และจังหวัดอุบลราชธานี ได้แก่ คณะกรรมการเครือข่ายภาคประชาสังคมลุ่มน้ำโขง สถาบันการศึกษา กลุ่มผู้ใช้น้ำ ด้านเกษตรกรรม และด้านประมง

     นายประดับ กล่าวว่า ประเทศไทยอยู่ในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างรวม 4 ประเทศ คือ ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ราชอาณาจักรไทย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ที่เป็นประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) ซึ่งรัฐบาล 4 ประเทศ ได้ลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2538 โดยมีข้อตกลงที่จะใช้น้ำของระบบลุ่มน้ำโขงอย่างสมเหตุสมผลและเป็นธรรม หากมีการนำน้ำจากแม่น้ำโขงมาใช้ภายในลุ่มน้ำหรือผันน้ำข้ามลุ่มน้ำ จะต้องดำเนินการตามระเบียบปฏิบัติ เรื่อง การแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง (Procedures for Notification, Prior Consultation and Agreement, หรือ PNPCA) ซึ่งเป็นกระบวนการที่กรอบระยะเวลาดำเนินการ 6 เดือน

        สำหรับการเปิดเวทีในวันนี้ เป็นครั้งที่ 2 โดยครั้งแรกจัดที่จังหวัดนครพนม เพื่อให้ประชาชนจังหวัดนครพนม หนองคาย และบึงกาฬ ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องของ 8 จังหวัดริมฝั่งแม่น้ำโขง ที่ประกอบด้วย เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ได้รับทราบข้อมูลเบื้องต้นของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนหลวงพระบาง และได้แสดงความคิดเห็นต่อข้อห่วงกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ส่งผ่านไปยัง สปป.ลาว ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ รวมทั้งหน่วยงานในพื้นที่จะได้รับทราบข้อมูลองค์ประกอบและการพัฒนาโครงการ รวมถึงเสนอความคิดเห็นต่อข้อกังวลที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งการเปิดเวทีวันนี้จะมีการให้ข้อมูลโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนหลวงพระบาง ของ สปป.ลาว ภายหลังจากที่ สปป.ลาว ได้เสนอโครงการผ่านทางคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง โดยสาระสำคัญจะเน้นชี้แจงความเป็นมาของโครงการฯ ระเบียบปฏิบัติ PNPCA ให้ข้อมูลโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนหลวงพระบาง สปป. ลาว รวมทั้งชี้แจงสรุปผลรายงานทบทวนทางด้านเทคนิคของโครงการฯ ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ได้รับทราบข้อมูล การบรรยายสรุปความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศต่อร่างรายงานทบทวนทางด้านเทคนิคของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนหลวงพระบาง สปป. ลาว (Technical Review Report: TRR) รวมทั้งรายงานผลการประชุมเวทีการให้ข้อมูลที่ผ่านมา ตลอดจนรับฟังข้อห่วงกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากทุกภาคส่วน และส่งให้ สปป.ลาวได้รับทราบผ่านกลไก PNPCA

      ส่วนโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนหลวงพระบางนับเป็นโครงการลำดับที่ 5 ที่ สปป.ลาว มีแผนจะก่อสร้างบนแม่น้ำโขงสายประธาน ต่อจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี โครงการไฟฟ้าพลังน้ำดอนสะโฮง โครงการไฟฟ้าพลังน้ำปากแบงและโครงการไฟฟ้าพลังน้ำปากลาย ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวเป็นประเด็นที่ภาคประชาชนและประชาสังคมให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะจังหวัดที่มีพื้นที่ติดแม่น้ำโขงของไทยทั้ง 8 จังหวัด

      ดังนั้น สทนช. ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย (Thai National Mekong Committee: TNMC) ทำหน้าที่เป็นหน่วยประสานงานภายใต้กรอบความร่วมมือ MRC ได้กำหนดจัดเวทีให้ข้อมูลโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนหลวงพระบาง สปป. ลาว ภายในประเทศ 3 ครั้ง (ครั้งที่ 1 จังหวัดนครพนม ครั้งที่ 2 จังหวัดอำนาจเจริญ และครั้งสุดท้ายที่จังหวัดเลย) ครอบคลุมพื้นที่ 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขง เพื่อนำข้อมูลด้านเทคนิคเกี่ยวกับการก่อสร้างเขื่อนหลวงพระบางจากการประชุมกับ สปป.ลาว ในฐานะประเทศเจ้าของโครงการ และข้อคิดเห็นจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ถ่ายทอดสู่ประชาชนในพื้นที่

     รวมถึงรับฟังประเด็นข้อห่วงกังวลต่อผลกระทบสะสมและข้ามพรมแดนของโครงการฯ ต่อพื้นที่ท้ายน้ำต่อคนในท้องถิ่น อาทิ ปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม รวมถึงระบบนิเวศลำน้ำโขง ที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการ นำไปสู่การกำหนดเป็นท่าทีประเทศไทยเสนอ สปป.ลาว พิจารณา ผ่านสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ตามลำดับ ทั้งนี้ สทนช. จะได้ติดตามและร่วมจัดทำแผนปฏิบัติการร่วม (Joint Action Plan) ของโครงการร่วมกับ 4 ประเทศ เพื่อให้การพัฒนาเขื่อนหลวงพระบางเกิดผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำให้น้อยที่สุด อันก่อให้เกิดความร่วมมือในการกำหนดมาตรการที่เหมาะสมรองรับการพัฒนาโครงการฯ ต่อไป