เกษตรกรเฮ!! ได้รับการสนับสนุนระบบสูบน้ำจากบ่อบาดาลด้วยพลังงานแสงอาทิตย์จากกระทรวงพลังงาน ทำให้มีน้ำใช้ในยามแล้ง สามารถลดต้นทุนการผลิต ไม่ต้องเสียค่าไฟฟ้า ติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ฟรี สภาเกษตรกรฯเผยปีงบประมาณ 2562 ได้นับการสนับสนุนจากสำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน 300 บ่อใน 5 จังหวัด ปีนี้เตรียมของบอีกจังหวัด 100 บ่อ ให้เกษตรกรยื่นเรื่องภายในวันที่ 31 มกราคม 2563 นี้
ว่าที่ ร.ต.สมพูนทรัพย์ กล้าวิกรณ์ เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า ปัญหาภัยแล้งปีนี้คุกคามภาคการเกษตรทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เกษตรกรเดือดร้อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ผ่านมาสภาเกษตรกรแห่งชาติได้ประสานไปยังกระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อขอการสนับสนุนระบบสูบน้ำจากบ่อบาดาลด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ภายใต้โครงการสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์(โซล่าเซลล์)
ว่าที่ ร.ต.สมพูนทรัพย์ กล้าวิกรณ์
ว่าที่ ร.ต.สมพูนทรัพย์ กล่าวอีกว่า เมื่อปีงบประมาณ 2562 สภาเกษตรกรแห่งชาติได้ขอการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงพลังงาน 300 บ่อ ใน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดมหาสารคาม ได้รับงบประมาณสนับสนุนประมาณ 27 ล้านบาท จังหวัดร้อยเอ็ด ประมาณ 20 ล้านบาท จังหวัดศรีสะเกษ ประมาณ 19 ล้านบาท จังหวัดอำนาจเจริญ ประมาณ 3.9 ล้านบาท จังหวัดนครราชสีมา ประมาณ 3 ล้านบาท
ทั้งนี้ จากการพูดคุยกับเกษตรกรที่ได้รับการสนับสนุน มีความพึงพอใจเพราะสามารถลดต้นทุนการผลิต ค่าไฟไม่ต้องเสีย การติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย น้ำที่ได้จากการสูบด้วยระบบพลังงานแสงอาทิตย์ นำไปใช้เพื่อกิจกรรมในช่วงฤดูแล้งที่ปกติไม่มีน้ำใช้เพื่อการประกอบอาชีพ อาทิเช่น ปลูกพืชผักสวนครัว พืชไร่ ปลูกหญ้าเนเปียร์ ปศุสัตว์ บ่อเลี้ยงปลา เพาะกล้าพันธุ์ข้าว เป็นต้น
ส่วนในปีงบประมาณ 2563 ประมาณการว่า จะของบฯสนับสนุนระบบสูบน้ำจากบ่อบาดาลด้วยพลังงานแสงอาทิตย์จังหวัดละ 100 บ่อ โดยเกษตรกรที่ประสงค์ขอรับการสนับสนุน ต้องมีบ่อน้ำบาดาลที่ขุดแล้วและได้รับอนุญาตจากกรมทรัพยากรน้ำบาดาล รวมตัวกัน 7 ครอบครัว พื้นที่ใช้น้ำร่วมกันไม่ต่ำกว่า 15 ไร่ ถ่ายสำเนาบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน เอกสารโฉนดที่ดินของเกษตรกรทั้ง 7 คน ใช้ประกอบในการยื่นคำขอรับการสนับสนุน พร้อมถ่ายภาพพื้นที่บ่อบาดาล แล้วนำไปยื่น ณ สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดในพื้นที่ ภายใน 31 มกราคม 2563
จากนั้นสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัด จะรวบรวมเอกสารส่งมายังสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เพื่อตรวจสอบและนำส่งสำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเพื่อพิจารณา ระยะเวลาดำเนินการจนถึงการได้รับอนุมัติงบประมาณไปดำเนินการตามระเบียบพัสดุรวม 120 วัน ก็สามารถดำเนินการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์และส่งมอบยังเกษตรกรผู้ใช้น้ำต่อไป