“เกษตร 4.0” จะไปทางไหน?  “ร้อน อภิปรายตัดงบฯ กรมวิชาการเกษตร 40%”

  •  
  •  
  •  
  •  

     พลันที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ เล่มที่3 (1) รายการปรับลด หน้า 8-11 ถึง 8-15 ที่พิจารณางบประมาณของกรมวชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่กรมวิชาการเกษตรตั้งงบไว้ 1500.6 ล้านบาท ปรากฏว่าถูกพิจารณาปรับลดรวม 600.9 ล้านบาท หรือเท่ากับ 40% ทำให้เสียงสะท้อนจากคนในกรมวิชาการเกษตรในหลายๆมุมมอง และที่สำคัญประเทศไทยกำลังพัฒนาภาคการเกษตรเพื่อสู่  “เกษตร 4.0” จึงมองว่า จะขับเคลื่อนได้อย่างไร ในต่อเมื่องบประมาณถูกปรับลดลงโดยเฉพาะมีงบฯด้านวิจัยก็ถูกปรับลดลงด้วย

     นายธัชธาวินท์ สะรุโณ นักวิชาการเกษตรเชี่ยวชาญ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 จังหวัดสงขลา ได้สะท้อนในเฟสบุ๊คส่วนตัวที่ใช้ชื่อจริง “ธัชธาวินท์ สะรุโณ” อย่างน่าสนใจ มีการพาดหัวว่า “ร้อน อภิปรายตัดงบ กรมวิชาการเกษตร 40%”

     ในเนื้อหาระบุว่า เปิดสภาภาคเช้าวันแรก ได้มีการพาดพิงถึงกรมวิชาการเกษตร ผมในฐานะคนกรมวิชาการเกษตร อยากพูดถึงข้อเท็จจริงของงานที่ทำอยู่ และการปรับลดงบของ กมธ เพื่อให้ท่านได้เข้าใจกรมมากขึ้น ทั้งๆที่ผมเองไม่เคยที่จะอยากยุ่งกับภาคการเมือง ครับ

     1.ตามเอกสารประกอบการประชุมสภา รายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ เล่มที่3 (1) รายการปรับลด หน้า 8-11 ถึง 8-15 สรุปดังนี้

      กรมวิชาการเกษตรตั้งงบไว้ 1500.6 ล้านบาท ปรับลดรวม 600.9 ล้านบาท หรือเท่ากับ 40% ประกอบด้วย งานพื้นฐานด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ปรับลด 30% งานวิจัยด้านพืชและเทคโนโลยีในการแข่งขัน 30% งานสินค้าเกษตรมีคุณภาพได้มาตรฐาน 31% โครงการบริหารจัดการสินค้าเกษตรตามแผนที่เกษตรฯ 50% โครงการยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร 31% โครงการส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ 50 %โครงการพัฒนาศักยภาพกระบวนการผลิตสินค้าเกษตร 50 % โครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน 50% โครงการพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ 47% โครงการพัฒนาการผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มกาแฟฯ ปรับลด 50% โครงการพัฒนาพื้นที่รองรับการวิจัยและถ่ายทอดฯ 4% โครงการพัฒนาพื้นที่รองรับการวิจัยและถ่ายทอดฯ 50 % และ โครงการส่งเสริมการดำเนินงานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปรับลด 49%

  1. ตัวอย่างรายการตามการปรับลดในเอกสารของ กมธ. และผลกระทบต่องานและผลกระทบกับเศรษฐกิจประเทศและเกษตรกร เช่น

     -โครงการรับรองมาตรฐานสินค้าพืช (GAP/ organic) เป็นงานที่สำคัญต่อการส่งออกสินค้าตามระเบียบการค้าส่งออก และเป็นการเพิ่มความปลอดภัยทางอาหารแก่ผู้บริโภค

     รายการที่ถูกตัดลดได้แก่ ค่าเดินทางไปตรวจแปลง ตัด 74% วัสดุวิทยาศาสตร์ในการวิเคราะห์สารพิษตกค้าง ตัด 69% ค่าจ้างเหมาพนักงานช่วยดำเนินการ ตัด 100% เป็นต้น

     การตัดงบดังกล่าวทำให้เกือบจะไม่สามารถทำงานนี้ได้เลย เนื่องจากงานรับรองมาตรฐาน เจ้าหน้าที่ผู้ตรวจรับรองต้องออกไปตรวจแปลงในพื้นที่เกษตรกร และต้องวิเคราะห์สารพิษตกค้างตามระบบมาตรฐานสากล การตัดรายการต่างๆ จึงทำให้กรมวิชาการเกษตรทำงานได้ยากมากครับ การจะลดจำนวนการตรวจรับรองก็ส่งผลต่อเกษตรกร และล้งผู้รวบรวมสินค้าทีกำลังจะส่งสินค้า ทำให้ไม่มีใบรับรอง งานนี้ ไม่มีหน่วยไหนทำแทนได้เพราะกฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่กรมวิชาการเกษตร

     -โครงพัฒนาตามแนวพระราชดำริต่างๆ ตัด 50% ในค่าใช้จ่ายในการออกไปทำงานในพื้นที่เกษตรกร และศูนย์ศึกษา หรือโครงการพระราชดำริต่างๆ ส่งผลต่อการสนองพระราชดำริต่างๆ ซึ่งโดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการตัดโครงการนี้เป็นอย่างยิ่ง

     -โครงการพิเศษตามนโยบายเร่งด่วนรัฐบาล ส่วนใหญ่ปรับลดลง 50 % โครงการส่วนนี้ทำกันแบบบูรณาการหลายกรม หากกระทรวงไม่ให้งบกรมวิชาการเกษตรไปทำ ก็ยังไม่เสียหายมากนัก หน่วยงานอื่นๆยังพอทำต่อได้ แต่ถ้างบน้อยลง ก็ต้องปรับปริมาณพื้นที่ และจำนวนเกษตรกรที่จะได้ประโยชน์ลง 50% การตัดงบนี้ ส่งผลกับการผลักดันงานของรัฐบาลที่ประกาศไว้ และจำนวนเกษตรกรที่จะได้รับประโยชน์ต่อการพัฒนาจะมีน้อยลงตามงบครับ

      -งานวิจัยและพัฒนาต่างๆ ถูกตัดลง 50% เรื่องนี้จะกระทบและสร้างความเสียหายต่อความก้าวหน้าเทคโนโลยี และส่งผลต่อการแก้ปัญหาของเกษตรกรจนถึงการแก้ปัญหาการนำเข้าส่งออก เนื่องจากงานวิจัยเป็นงานที่จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง การหยุดกลางคันทำให้งานเสียหาย ส่งผลต่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพันธุ์พืช การแก้ปัญหาศัตรูพืช การแก้ปัญหาการผลิตในชุมชน ตลอดจนปัญหาพืชต่างๆ ที่สังคมกล่าวถึง ล้วนต้องแก้ด้วยงานวิจัยและพัฒนาทั้งสิ้นครับ

      3.อธิบดีกรมวิชาการเกษตร (น.ส.เสริมสุข  สลักเพ็ชร์) ห่วงใยต่อผลกระทบมาก จึง ออกหนังสือเวียน 27 ธันวาคม 2562 และประชุมชี้แจงให้นโยบายต่อส่วนราชการในสังกัดถึงการปรับลดงานให้เหมาะสมตามที่ กมธ ตัดงบประมาณ

      “ให้บริหารงาน ให้มีผลกระทบต่อประชาชนและการส่งออกให้น้อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการรับรองมาตรฐานสินค้า ให้รักษางานโครงการตามพระราชดำริ และรักษางานวิจัยให้เสียหายน้อยที่สุด และให้ใช้จ่ายอย่างประหยัด คุ้มค่า เกิดประโยชน์ต่อราชการสูงสุด “

       นี่คือคำพูดของอธิบดีกรมวิชาการเกษตร และทุกหน่วยก็รับนโยบายมาปฎิบัติ ซึ่งขณะนี้ได้มีการปรับลดการใช้จ่ายในหลายรายการลงบ้างแล้ว เช่น งบค่าจ้าง ที่มักถูกมองว่าไม่จำเป็น แต่แท้จริงคือการจ้างแรงงานเกษตรกร ชาวบ้าน หรือผู้จบการศึกษาสายเกษตร ได้มีงานทำและเป็นอาชีพเลี้ยงครอบครัว จำเป็นต้องลดค่าจ้างคนงาน และรายการต่างๆ ในระดับ 40% ตามที่ กมธ ปรับลด “แม้ไม่อยากจะทำก็ตาม”

      เป็นเรื่องที่ทุกคนในกรมวิชาการเกษตร ห่วงใย แต่หากเป็นไปตามนั้น เราเป็นข้าราชการ รู้ดีว่าต้องทำให้ดีที่สุดบนประโยชน์สุขของประชาชนด้วยจิตวิญญาณข้าราชการของพระเจ้าอยู่หัว

     กรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยงานวิชาการ ที่่ได้รับความไว้วางใจจากสังคมมาตลอด 47 ปี จากความมุ่งมั่น เอาจริงเอาจังกับการทำงานวิจัยและพัฒนาการผลิตพืช และเป็นหน่วยงานที่คอยค้นคว้าวิจัยการแก้ปัญหาเกษตรกร จนถึงการค้าสินค้าเกษตรในกรณีต่างประเทศตีกลับสินค้าก่อนที่จะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโดยรวม ทั้งพืชผัก ไม้ผล ปาล์มน้ำมัน พืชไร่ ไม้ดอกไม้ประดับ ปุ๋ย สารเคมี ฯลฯ

     ด้วยเพราะห่วงใยต่องานที่จะกระทบต่อเกษตรกรในฐานะที่คนเป็นข้าราชการตัวน้อยๆ จึงขอแสดงความกังวลต่อผลที่จะเกิดขึ้นกับพี่น้องเกษตรกรและเศรษฐกิจของบ้านเมือง ไม่มีอย่างอื่นแอบแฝงครับผม

     ฝากความหวังนี้ไว้กับท่าน ส.ส. สว. ครม. ที่ห่วงใยภาคเกษตร ในการทบทวน ได้โปรดพิจารณาถึงแก่นแท้ของงานกรมวิชาการเกษตร ขอบคุณครับ