พบ 14 เขื่อนใหญ่ส่อวิกฤตน้ำใช้ได้ไม่ถึง 30 %

  •  
  •  
  •  
  •  

                                                             สำเริง แสงภู่วงค์

สทนช.ชี้เขื่อนใหญ่-กลาง 105 แห่งอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย ล่าสุดr[เขื่อนขนาดใหญ่ 14 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การได้จริงน้อยกว่า 30% วอนทุกหน่วยงาน เร่งเดินหน้ามาตรการลดผลกระทบประชาชน ย้ำ 3 หน่วยหลักให้คุมแผนจัดสรรน้ำลุ่มเจ้าพระยา – โขง ชี มูล หวั่นปริมาณน้ำลากยาวไม่ถึงสิ้นแล้ง

      นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมทั้งประเทศขณะนี้ว่า ปัจจุบันแหล่งน้ำต่างๆ ทั่วประเทศมีปริมาณน้ำรวมทั้งสิ้น 49,789 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 61% เป็นปริมาณน้ำใช้การ 25,714 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 44% แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 20,738 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 44

      ล่าสุดมีเขื่อนขนาดใหญ่ 14 แห่งที่มีปริมาณน้ำใช้การได้น้อยกว่า 30%  ได้แก่ เขื่อนแม่กวง เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแม่มอก เขื่อนทับเสลา เขื่อนกระเสียว เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนลำแซะ เขื่อนลำนางรอง เขื่อนป่าสักฯ เขื่อนคลองสียัด และเขื่อนหนองปลาไหล ขณะที่แหล่งน้ำขนาดกลาง 354 แห่ง จากทั้งหมด 660 แห่งที่มีระบบติดตามได้ พบว่า อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังน้ำน้อยจำนวน 91 แห่ง แบ่งเป็น ภาคเหนือ 29 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 46 แห่ง ภาคกลาง 2 แห่ง ภาคตะวันออก 10 แห่ง ภาคตะวันตก 2 แห่ง และภาคใต้ 2 แห่ง ซึ่งขณะนี้หน่วยงานต่างๆ ได้มีการปรับแผนการดำเนินงาน โดยใช้งบประมาณปกติของหน่วยงานในการจัดหาแหล่งน้ำสนับสนุนพื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบขาดแคลนน้ำทั้งในเขตและนอกเขตชลประทานที่สามารถเร่งรัดดำเนินการได้ทันทีภายในระยะ 1 – 2 เดือนนี้

      ขณะเดียวกัน เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ เป็นไปตามแผน และไม่ส่งผลกระทบกับแผนการจัดสรรน้ำตลอดฤดูแล้ง สทนช.ได้มีการกำกับ ติดตาม ตรวจสอบแผนและผลการจัดสรรน้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ ในพื้นที่เขตชลประทาน มีมาตรการในการควบคุมจัดสรรน้ำให้เป็นไปตามแผนจัดสรรน้ำและสอดคล้องต่อปริมาณน้ำต้นทุน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตร และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มีการปรับแผนจัดสรรน้ำอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่-กลางแล้ว 25 แห่ง แบ่งเป็น อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 14 แห่ง แบ่งเป็นภาคเหนือ 5 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 แห่ง ภาคตะวันออก 5 แห่ง ภาคกลาง 1 แห่ง และภาคตะวันตก 2 แห่ง อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 11 แห่ง แบ่งเป็นภาคเหนือ 3 แห่ง และภาคตะวันออก 8 แห่ง พร้อมประชาสัมพันธ์รณรงค์ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องประหยัดน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้  

     นายสำเริง กล่าวอีกว่า จากการติดตามแผน-ผลการจัดสรรน้ำสะสมรายวัน (1 พ.ย.62 – 2 ม.ค.63 ) ในลุ่มน้ำสำคัญ 4 ลุ่มน้ำ พบว่า มี 2 ลุ่มน้ำที่มีการจัดสรรน้ำเกินแผน ได้แก่ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา (4 เขื่อนหลัก) จัดสรรน้ำแล้ว 1,398 ล้าน ลบ.ม. จากแผนจัดสรรน้ำ 1,268 ล้าน ลบ.ม. เกินแผน 130 ล้าน ลบ.ม. และลุ่มน้ำ โขง ชี มูล จัดสรรน้ำแล้ว 385 ล้าน ลบ.ม. จากแผน 379 ล้าน ลบ.ม.  เกินแผน 6 ล้าน ลบ.ม.

       ขณะที่ลุ่มน้ำแม่กลอง และลุ่มน้ำภาคตะวันออก (EEC) แม้ยังมีการจัดสรรน้ำน้อยกว่าแผน แต่คาดว่ามีแนวโน้มจะจัดสรรน้ำเกินแผน ดังนั้น สทนช.ได้เน้นย้ำทุกหน่วยงานคำนึงถึงลำดับความสำคัญในการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศ เป็นหลัก โดยเฉพาะการรักษาคุณภาพน้ำ ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์ค่าความเค็มน้ำด้านอุปโภค บริโภค แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณตั้งแต่ปากแม่น้ำจนถึงสถานีสำแล อ.เมือง จ.ปทุมธานี อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังที่ต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด  ขณะที่คุณภาพน้ำด้านการเกษตร แม่น้ำแม่กลอง และเพชรบุรี อยู่ในเกณฑ์ปกติ แม่น้ำท่าจีน บางปะกง อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง เพื่อป้องกันผลกระทบพื้นที่เกษตรในพื้นที่ด้วย

      อย่างไรก็ตาม สทนช.จะบูรณาการการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาแล้งของหน่วยงานต่าง ๆ ภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นผู้บัญชาการ เพื่อติดตามผลการแก้ไขปัญหาภัยแล้งของทุกหน่วยงานแบบเบ็ดเสร็จ  เพื่อติดตามประเมินสถานการณ์ ผลกระทบรายพื้นที่ รวมถึงมาตรการให้ความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด