สทนช.พร้อมหน่วยเกี่ยวข้องร่วมลงพื้นที่สำรวจจุดก่อสร้างเขื่อนหลวงพระบางตามกระบวนการ PNPCA เตรียมนำข้อมูลหารือเชิงเทคนิคเสนอเวทีสร้างการรับรู้ในประเทศ กรณีเขื่อนหลวงพระบาง ประเดิมครั้งแรก จ.นครพนม 24 ธ.ค.นี้
นายประดับ กลัดเข็มเพชร รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พร้อมด้วยผู้แทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผู้ทรงคุณวุฒิ พร้อมผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม และด้านเศรษฐกิจและสังคม เข้าร่วมประชุมคณะทำงานคณะกรรมการร่วมคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 3 – 4 ธันวาคม 2562 ณ เมืองหลวงพระบาง สปป.ลาว ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 4 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว และเวียดนาม เพื่อร่วมหารือประเด็นด้านเทคนิคสำหรับกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า (PNPCA) ของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนหลวงพระบางและไปดูพื้นที่จะก่อสร้งด้วย
โดยฝ่ายไทยจะดำเนินการรวบรวมข้อสรุปจากการประชุมครั้งนี้ พร้อมด้วยผลการวิเคราะห์ ประเด็นข้อสังเกต ข้อเสนอแนะจากหน่วยงานฝ่ายไทยที่เกี่ยวข้อง และข้อมูลจากการลงพื้นที่สำรวจจุดที่จะมีการก่อสร้างโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนหลวงพระบาง อาทิ จุดก่อสร้างอาคารระบายน้ำล้น โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ทางผ่านปลา สถานีวัดน้ำ เป็นต้น รวมถึงบริเวณหมู่บ้านห้วยอ้อ ซึ่งมีประชาชน 315 คน 74 หลังคาเรือนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน เพื่อนำเสนอในเวทีให้ข้อมูล โครงการเขื่อนหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตามระเบียบปฏิบัติของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง เรื่อง การแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (PNPCA) ครั้งที่ 1 ซึ่งกำหนดจัดขึ้นครั้งแรกในวันที่ 24 ธันวาคมนี้ ณ ศูนย์ประชุมหนองบึกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครพนม อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ที่ทำหน้าที่เป็นหน่วยประสานงานภายใต้กรอบความร่วมมือ MRC ได้กำหนดจัดเวทีให้ข้อมูลโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนหลวงพระบาง สปป. ลาว เพื่อนำข้อมูลในด้านเทคนิคเกี่ยวกับการก่อสร้างเขื่อนหลวงพระบางจากการประชุมกับ สปป.ลาว ในฐานะประเทศเจ้าของโครงการ และข้อคิดเห็นของประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขงตอนล่างในครั้งนี้ ถ่ายทอดต่อไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดที่อยู่ริมลำน้ำโขง
นอกจากการให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเขื่อนหลวงพระบางแล้ว ยังเป็นเวทีในการรับฟังประเด็นข้อห่วงกังวลต่อผลกระทบสะสมและข้ามพรมแดนของโครงการฯ ต่อพื้นที่ท้ายน้ำต่อคนในท้องถิ่น อาทิ ปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม รวมถึงระบบนิเวศน์ลำน้ำโขง เป็นต้น ที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการ นำไปสู่การกำหนดเป็นท่าทีประเทศไทยเสนอ สปป.ลาวพิจารณา ผ่านสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง กรณีการก่อสร้างโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนหลวงพระบางตามลำดับต่อไป