เขื่อนอุบลรัตน์ วิกฤตสุดๆในรอบ 53 ปี ถึงขั้นต้องเอาน้ำก้นอ่างมาใช้กันแล้ว

  •  
  •  
  •  
  •  

เขื่อนอุบลรัตน์ วิกฤตสุดในรอบ 53 ปี นับตั้งแต่มีการก่อสร้างเขื่อนมา ล่าสุดมีน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อยมากเหลือเพียง 23 % ของความจุอ่างฯ ถึงขนาดต้องนำน้ำก้นอ่างมาใช้กันแล้ว เพื่อสนับสนุนใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค และการรักษาระบบนิเวศ วันละประมาณ 0.65 ล้าน ลบ.ม. แต่ยันไม่กระทบต่อความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อนแต่อย่างใด

          ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังได้รับรายงานสถานการณ์น้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น จากนายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 ว่า สืบเนื่องจากปริมาณฝนที่ตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยตลอดในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่รับน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ ส่งผลให้มีน้ำไหลเข้าเขื่อนอุบลรัตน์ น้อยที่สุดในรอบ 53 ปี นับตั้งแต่มีการก่อสร้างเขื่อน โดยปัจจุบันเขื่อนอุบลรัตน์ มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อยมาก เพียง 574 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 23 ของความจุอ่างฯ เท่านั้น ในขณะที่ยังคงต้องระบายน้ำ เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และการรักษาระบบนิเวศ วันละประมาณ 0.65 ล้าน ลบ.ม.

        อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำจังหวัดขอนแก่น ได้ร่วมหารือกันถึงแนวทางในการนำน้ำก้นอ่างฯมาใช้ โดยในช่วงฤดูแล้งปี 2562 ต่อเนื่องไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า (1 พ.ย. 62 – 31 พ.ค. 63) ได้เตรียมนำน้ำก้นอ่างฯมาใช้ ตามแผนการระบายน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ คาดว่าจะต้องใช้น้ำก้นอ่างประมาณ 190 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะต้องติดตามการบริหารจัดการน้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เนื่องจากปริมาณน้ำที่เหลือในเขื่อนอุบลรัตน์ สามารถสนับสนุนได้เฉพาะการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น ซึ่งการนำน้ำก้นอ่างฯมาใช้ จะไม่กระทบต่อความมั่นคงแข็งแรงของตัวเขื่อนแต่อย่างใด

        ทั้งนี้ กรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 6 ได้ทำการประเมินน้ำต้นทุนเขื่อนขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบ 5 จังหวัด ภาคอีสานกลาง ได้แก่ ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธ์ มหาสารคาม และร้อยเอ็ด เพื่อประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งด้านการอุปโภคบริโภค โดยได้เชิญภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมหารือกัน เพื่อให้รับทราบสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง รวมถึงได้สั่งการให้ทุกโครงการชลประทานในพื้นที่ จัดการประชุมคณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC)

        เพื่อให้ผู้ใช้น้ำได้หารือแนวทางบริหารจัดการน้ำร่วมกัน พร้อมกับเน้นย้ำให้ทำการประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำให้ทุกภาคส่วนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้ รวมทั้งต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนได้ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรน้ำ ร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด เพียงพอใช้ไปจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2563