สทนช.จับมือจุฬาฯ ชู KITs ขับเคลื่อนการบริหารทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน

  •  
  •  
  •  
  •  


สทนช.และจุฬาฯ ร่วมมือจัด “Water Diplomacy” เชิญผู้เชี่ยวชาญนานาประเทศร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านน้ำ เสริมเสาหลักที่ 4 ขับเคลื่อนแผนแม่บทน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ มั่นคง และยั่งยืน พร้อมมอบรางวัลดีเด่น Best Practice ภายใต้แนวคิด “ศาสตร์พระราชา นำพาน้ำยั่งยืน”จากรองนายกฯ ประวิตร ให้ “ชุมชนบ้านศาลาดิน” ชุมชนที่มีแนวปฏิบัติที่ดีด้านการบริหารทรัพยากรน้ำ เตรียมใช้เป็นโมเดลขยายผลสู่พื้นที่อื่น

                                                                                    เทวัญ ลิปตพัลลภ  

     นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุม หัวข้อ “Water Diplomacy: where Local Wisdom meets International Excellence” ณ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางวิชาการระหว่างภาคีเครือข่ายและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้แบบไร้พรมแดน โดยมีผู้เข้าร่วมงาน ประกอบด้วย ผู้แทนจากสถานเอกอัคราชฑูต และองค์กรระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัย และตัวแทนภาคส่วนต่างๆ กว่า 200 คน ซึ่งกิจกรรมประกอบด้วย การนำเสนอผลงานและการมอบรางวัล แนวปฏิบัติที่ดีด้านการบริหารทรัพยากรน้ำ ตามแนวทาง “ศาสตร์พระราชา นำพาน้ำยั่งยืน” จำนวน 9 รางวัล โดยรับมอบโล่รางวัลและประกาศเกียรติคุณจากรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ซึ่งเป็นผลงานภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ได้รับการคัดเลือกมาจากทำเนียบ Best Practice จากผู้ส่งผลงานทั้งสิ้น 122 รายการทั่วประเทศ รวมทั้งการเสวนาหัวข้อ ““Thai Local Wisdom: Lesson learn and Challenges for Improvement” และการบรรยายพิเศษหัวข้อ “งานวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรมการบริหารทรัพยากรน้ำ: ภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่สากล” และหัวข้อ “International Excellence”

                                                                        สมเกียรติ ประจำวงษ์ 

     ด้้าน ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า สทนช. และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาองค์ความรู้ การเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถของทรัพยากรมนุษย์ เพื่อขับเคลื่อนการบริหารทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน โดยตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา สทนช. ได้พัฒนาองค์ความรู้ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายและหน่วยงานภาคการศึกษาจำนวนมาก มีการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเครือข่ายทั่วประเทศ รวมถึงงานความร่วมมือทางวิชาการกับประเทศต่างๆ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาและถ่ายทอดการบริหารทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ ซึ่งนับว่าเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญของเสานวัตกรรม อันเป็นเสาหลักที่ 4 เพื่อการบริหารน้ำของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ มั่นคง และยั่งยืน

       นอกจากนี้ สทนช. ยังให้ความสำคัญในการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำด้วยองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อนำมาต่อยอดขยายผลในการวางแผนงานเพื่อแก้ปัญหาด้านน้ำในระดับพื้นที่ โดยได้เปิดโอกาสให้ภาคประชาชน คณะกรรมการลุ่มน้ำ เครือข่ายองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน หรือสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ที่สนใจร่วมส่งองค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ผ่านโครงการนวัตกรรมและแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของชุมชน ภายใต้แนวคิด “ศาสตร์พระราชา นำพาน้ำยั่งยืน” ครอบคลุมตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ใน 5 ด้าน ระหว่างวันที่ 18 สิงหาคม – 30 กันยายน 2562 ซึ่งมีผู้สนใจส่งโครงการเข้าร่วมจำนวนทั้งสิ้น 122 โครงการ โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐและภาคเอกชน ได้คัดเลือกและลงพื้นที่จริงเพื่อประเมินผลการตัดสินอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม

 

       สำหรับโครงการที่ผ่านเกณฑ์ได้รับรางวัลดีเด่น 1 รางวัล ได้แก่ “โครงการผู้นำและเครือข่ายในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ชุมชนบ้านศาลาดิน จ.นครปฐม” ซึ่งส่งประกวดด้านที่ 4 การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ เสนอโครงการโดยสำนักงานชลประทานที่ 11 และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม จุดเด่นคือความเข้มแข็งของชุมชนบ้านศาลาดินที่ใช้ธรรมชาติบำบัดเพื่อแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำ เนื่องจากชุมชนประสบปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง รวมทั้งคุณภาพน้ำเน่าเสียจากการทิ้งสิ่งปฏิกูลของครัวเรือนและปัญหาผักตบชวาที่กีดขวางการไหลของน้ำ โดยแก้ปัญหาด้วยการน้อมนำหลักการทรงงานของในหลวง ร.9 “ระเบิดจากข้างใน”มาประยุกต์ใช้ด้วยกระบวนการประสานการดำเนินการระหว่างภาคีเครือข่ายและทุกภาคส่วน จนสามารถดำเนินการฟื้นฟูคลองมหาสวัสดิ์ด้วยวิธีธรรมชาติบำบัดธรรมชาติ ส่งเสริมการจัดการน้ำเสียของชุมชนโดยใช้ถังดักไขมันทุกครัวเรือน ผลิตเครื่องมือเติมออกซิเจนในน้ำในรูปกังหันน้ำแบบทุ่นลอยโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และมีรายได้จากการนำผักตบชวามาแปรรูปขาย พัฒนากลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว“ตลาดน้ำบ้านศาลาดิน” คนในชุมชนเกิดความตระหนักและร่วมรักษาทรัพยากรน้ำ จนสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ของคนในชุมชนได้อย่างดียิ่ง

       ส่วนโครงการที่ได้รับรางวัลชมเชย มีจำนวน 8 รางวัล ประกอบด้วย ด้านที่ 1 การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค 1.โครงการสร้างฝายมีชีวิต จ.สุราษฎร์ธานี โดยเขื่อนรัชชประภา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ใช้กระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนตั้งแต่การสำรวจพื้นที่และสร้างฝายทดน้ำแบบมีชีวิตด้วยวัสดุธรรมชาติ อาทิ ไม้ไผ่ (เจริญเติบโตได้) กระสอบ ทราย และเชือก ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผืนป่า เกิดองค์ความรู้ในการสร้างฝายที่ถูกต้องโดยครูฝาย ทำให้สามารถกักเก็บน้ำบริเวณหน้าฝายและมีน้ำไหลผ่านสันฝายตลอดปี

       2.โครงการปรับปรุงระบบประปาภูเขา บ้านทุ่งกลาง จ.น่าน โดยการประปานครหลวง เนื่องจากระบบประปาเดิมของพื้นที่เกิดปัญหาตะกอน/ทรายปะปนมาตามระบบท่อประปา ทำให้น้ำขุ่นไม่สะอาดและส่งผลให้ท่อน้ำอุดตัน โดยได้ประชุมร่วมกับผู้นำชุมชนและลงพื้นที่สำรวจ แก้ไขปัญหาด้วยการมีส่วนร่วมกับชาวบ้านในการย้ายจุดรับน้ำในตำแหน่งใหม่ เพื่อไม่ให้น้ำพัดพาตะกอน/ทรายเข้ามาได้โดยตรง และใช้หัวกรองน้ำเพิ่มจุดระบายในตำแหน่งที่ท่อส่งน้ำเป็นแอ่งกระทะหรือมีการตกท้องช้าง รวมทั้งเพิ่มจุดระบายอากาศในจุดที่เป็นยอดเนินเขาเพื่อป้องกันการเกิดอากาศกีดขวางในเส้นท่อ ช่วยลดปัญหาการอุดตันท่อประปาภูเขา ชาวบ้านมีน้ำสะอาดใช้อุปโภคบริโภคในครัวเรือน คนในชุมชนมีจิตสำนึกและองค์ความรู้ในการใช้งานและบำรุงรักษาส่งผลให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้

 

     ด้านที่ 2 การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต 3.โครงการบริหารจัดการน้ำตำบลวังหว้า อ.แกลง จ.ระยอง โดยกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานตำบลวังหว้า ปี 2556/1 ที่ประสบปัญหาการแย่งชิงน้ำในการทำการเกษตร จนมีการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำที่มีภาครัฐเข้ามาขับเคลื่อนในช่วงแรก ร่วมกับผู้นำชุมชนเป็นสื่อกลางให้กับชาวบ้าน และเปิดพื้นที่ชุมชนในการเรียนรู้การบริหารจัดการน้ำ นำไปสู่องค์กรผู้ใช้น้ำที่เข้มแข็ง จัดทำแผนที่เดินดินหรือแผนที่ทำมือ ทำฝายชะลอน้ำให้เป็นจุดพักน้ำจากโครงการส่งน้ำฯประแสร์ เกิดการจัดการน้ำในลำรางสาธารณะ สระสาธารณะ และสระพวง ให้มีสภาพสมบูรณ์พร้อมใช้งานตลอดเวลา รวมทั้งปลูกหญ้าแฝกป้องกันการพังทลายของหน้าดินด้วย 4.โครงการสูบน้ำจากบ่อบาดาลเพื่อการเกษตร โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ จ.กาฬสินธุ์ โดยศูนย์ฟื้นภูมิไท เนื่องจากพื้นที่นอกเขตชลประทานมีเพียงแหล่งน้ำสาธารณะและบ่อน้ำในไร่นาของเกษตรกร มักพบปัญหาน้ำแห้งขอดในช่วงฤดูแล้ง

        อีกทั้งไม่สามารถเพิ่มการสูบน้ำจากแหล่งน้ำต่างๆ ได้ เนื่องจากการขยายเขตไฟฟ้าที่ไม่เพียงพอและการวางแผนพลังงานชุมชนมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง จึงมีการผลักดันนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้แทนพลังงานไฟฟ้าในการสูบน้ำจากบ่อบาดาล โดยความร่วมมือของชาวบ้านในชุมชนและภาคีเครือข่าย จัดเวทีประชาคมและฝึกอบรมการติดตั้งและใช้ระบบสูบน้ำ พัฒนาองค์กรความรู้และภูมิปัญญา ก่อให้เกิดช่างชุมชน/วิทยากรชุมชน เพื่อบำรุงรักษาและขยายโครงการ สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้อย่างเป็นรูปธรรม

         ด้านที่ 3 การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย 5.โครงการศูนย์บริหารจัดการน้ำจังหวัดแพร่ โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ เนื่องจากจังหวัดแพร่ประสบปัญหาภัยพิบัติทางน้ำซ้ำซาก จึงได้จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำจังหวัดแพร่ เพื่อเป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลระบบสารสนเทศ เพื่อวิเคราะห์และตัดสินใจในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ ใช้เทคโนโลยีสื่อออนไลน์ในรวบรวมข้อมูลน้ำจากท้องถิ่นในภาวะปกติและใช้แจ้งเตือนในภาวะวิกฤติ ขยายผลกลายเป็นโรงเรียนการบริหารจัดการน้ำแบบพึ่งพาตนเอง เกิดคัมภีร์น้ำของจังหวัด และสร้างเครือข่ายการบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วม 6.โครงการขุดดินแลกน้ำ ณ หนองลาดช้าง โดย อ.บ้านแพรก จ.พระนครศรีอยุธยา เนื่องจากประสบปัญหาน้ำท่วม-แล้งซ้ำซากส่งผลต่อการทำการเกษตรในพื้นที่ โดยชาวบ้านได้ทำประชาคมร่วมกับเกษตรกรเพื่อขอมติให้มีการขุดลอกหนองลาดช้าง ซึ่งเป็นหนองน้ำในพื้นที่สาธารณะประโยชน์เพื่อใช้เป็นแก้มลิงกักเก็บน้ำช่วงน้ำหลากไว้ทำการเกษตรช่วงฤดูแล้ง โดยใช้ดินที่ได้จากการขุดลอกจ่ายแทนค่าจ้าง ปัจจุบันสามารถเก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้น 67,350 ลบ.ม. รวมทั้งก่อสร้างบานประตูเปิด-ปิดน้ำ เพื่อบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ลดความเสี่ยงในการเกิดอุทกภัยในช่วงฤดูฝนและสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง

           และด้านที่ 5 การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน 7.โครงการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำตามรอยพ่อของแผ่นดิน โดย เขื่อนภูมิพล การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ร่วมกับเทศบาลตำบลอมก๋อย จ.เชียงใหม่ ซึ่งในอดีตมีปัญหาการบุกรุกป่าต้นน้ำทำไร่หมุนเวียน ป่าต้นน้ำเสื่อมโทรม จึงได้จัดทำประชาคมหมู่บ้านให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการเลือกชนิดพันธุ์พืชในการปลูกป่า สร้างเครือข่ายการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้คนต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ได้รับทราบปัญหาและหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน เกิดความเอื้ออาทรและให้ความร่วมมือรักษาระบบนิเวศต้นน้ำ เกิดรูปแบบการทำเกษตรที่เหมาะสมกับพื้นที่ลาดชัน พื้นที่ไร่นาหมุนเวียนลดลง ระบบนิเวศป่าไม้สามารถฟื้นตัวเองโดยธรรมชาติ ส่งผลให้มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี และ 8.โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์ลุ่มน้ำแม่ขนาดตอนบน และลุ่มแม่ลอบตอนบน อ.แม่ทา จ.ลำพูน โดยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง แต่เดิมมีชุมชนอาศัยทำกินใจกลางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง 6 หมู่บ้าน ซึ่งอยู่ในลุ่มน้ำแม่ขนาดตอนบนและลุ่มน้ำแม่ลอบตอนบน

          อย่างไรก็ตาม เมื่อชุมชนขยายตัวจึงมีการบุกรุกแผ้วทางพื้นที่ป่าเพื่อทำการเกษตร ชาวบ้านไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่จนเกิดความขัดแย้ง จึงจัดทำโครงการสร้างองค์กรเครือข่ายการมีส่วนร่วมในการคุ้มครองรักษาป่า เน้นปฏิบัติการมวลชนสัมพันธ์ จัดเวทีเพื่อให้ชุมชนสะท้อนปัญหาและแนวทางการแก้ไข เพื่อสนับสนุนกิจกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและจัดเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการจัดการทรัพยากร 2 ลุ่มน้ำ จนชาวบ้านให้ความไว้ใจร่วมหาแนวทางแก้ไข จนสามารถฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมในลุ่มน้ำแม่ขนาดตอนบน 6,000 ไร่ ในระยะเวลา 10 ปี มีการกำหนดเขตอนุรักษ์และพื้นที่ทำกินเป็นรูปธรรม เกิดพื้นที่การพัฒนาศักยภาพชุมชนบนพื้นที่สูง ส่งเสริมเกษตรปลอดสารเคมี และการสร้างเครือข่ายร่วมกับองค์กรอิสระ โดยใช้งานวิจัยเป็นเครื่องมือในการพัฒนาท้องถิ่น

        “ทุกโครงการได้สะท้อนปัญหาด้านทรัพยากรน้ำที่เคยเกิดขึ้น รวมทั้งแนวทางปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาได้อย่างชัดเจนเป็นระบบทุกขั้นตอน รวมทั้งการนำศาสตร์พระราชาในด้านต่างๆ มาปรับประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับท้องถิ่น ส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน สร้างความสามัคคีและเกิดความหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นของตนเอง จนส่งผลให้ทุกโครงการประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ สทนช. พร้อมสานต่อด้วยการน้อมนำศาสตร์พระราชา มาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ครอบคลุมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เน้นคนเป็นศูนย์กลาง และพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน เนื่องด้วย งานบริหารทรัพยากรน้ำเป็นกระบวนงานที่ต้องอาศัยความร่วมมือเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนแบบองค์รวม สทนช. พร้อมที่จะเป็นหน่วยประสานกลาง สร้างความเชื่อมโยงระหว่างองค์ความรู้ระดับท้องถิ่นและแนวปฏิบัติอันเป็นเลิศจากนานาชาติ เพื่อให้เกิดการประยุกต์ใช้งานที่สอดคล้องกับภูมิสังคมของประเทศไทย ขณะเดียวกัน เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความเชี่ยวชาญกับประเทศต่างๆ อันเป็นภารกิจและยุทธศาสตร์ด้านการทูต การต่างประเทศที่สำคัญของประเทศไทยอีกด้วย” เลขาธิการ สทนช. กล่าว