เกษตรกรฮอือทั้งแผ่นดินกว่า  5 แสนคนค้านการแบนพาราควอต ประกาศเดินหน้าพบนายกฯ

  •  
  •  
  •  
  •  

ภาคประชาคมเกษตรกรฮือทั้งแผ่นดิน รวมตัวกว่า 5 แสนคนค้านแบน“พาราคาวอต” ประกาศพร้อมหน้าพบนายกรัฐมนตรี ยืนยันต้องใช้มติคณะกรรมการวัตถุอันตรายเดิม ที่อนุญาตให้ใช้ได้ภายใต้เงื่อนไขที่ที่กำหนดเดิม ระบุหากแบนจริงจะสร้างความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตรถึง 6.5 หมื่นล้านบาท ไม่รวมความเสียหายภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ถาม “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” เหตุผลใดที่จะแบน ย้ำขอให้ตัดสินจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เป็นหลัก

          เมื่อช่วงเช้าวันที่ 9 ตุลาคม 2562 มีตัวแทนกลุ่มเกษตรกรในนามสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย และเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง บุกกระทรวงเกษตรเพื่อไปพบกับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อสอบถามว่า เหตุใด้ที่ฟันธงจะแบน 3 สารเคมมีเพื่อการเกษตร ประกอบด้วยพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพรีฟอส โดยเฉพาะพาราควอตที่เกษตรกรยืนยันว่า ยังมีความจำเป็นในยามที่ภาคการเกษตรกำลังขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก และไม่มีสารเคมีตัวอื่นมาแทนได้  แต่ปรากฏว่า นายเฉลิมชัย ไม่อยู่ กลับพบตัวแทนขององค์กรพัฒนาภาคเอกชนหรือ เอ็นจีโออยู่ในห้องประชุม ซึ่งในนั้นมีนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย)อยู่ด้วย จึงทำให้มีการต่อว่ากันจนเสียงดังสนั่นห้อง และสอบถามเหตุผลใด ที่รัฐมนตรีในกระทรวงเกษตรฯนัดพบกับตัวแทนเอ็นจีโอ แต่ไม่ยอมพบกับเกษตรกร (ฟังเสียงในคลิป)

        นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เกษตรกรกว่า 500,000 ราย ขอประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันขอยืนยันมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายเดิม “อนุญาตให้ใช้พาราควอต” ภายใต้มาตรการจำกัดการใช้ฯ เนื่องจากตลอดสองปีกว่าที่ผ่าน เกษตรกรเป็นผู้รับเคราะห์มาโดยตลอด มีการจัดตั้งคณะทำงานหลายชุดตามข้อเสนอแบนสารเคมีของกระทรวงสาธารณสุข องค์กรอิสระ เอ็นจีโอ ท้ายที่สุดมติจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายก็ระบุชัดว่า ข้อมูลต่าง ๆ ของฝ่ายแบนนั้น หลักฐานไม่เพียงพอ แสดงให้เห็นว่า ข้อมูลเหล่านั้นไม่มีน้ำหนัก ขาดความน่าเชื่อถือมาโดยตลอด  แต่ฝ่ายเสนอแบนไม่เคยยอมรับมติ แต่กลับเผยแพร่ข้อมูลที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อตัวเกษตรกร ต้นทุนพุ่ง กระทบต่อเศรษฐกิจการเกษตร สินค้าปลอมและสารเคมีนำเข้าผิดกฎหมายเกลื่อน ไทยสูญเสียความน่าเชื่อถือในการส่งออก

       ส่วนที่บอกว่าสวนปาล์มน้ำมันทั่วโลกเลิกใช้พาราควอต เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง จริงๆแล้ว มาตรฐาน RSPO เป็นมาตรฐานสมัครใจ  ก็ยังให้ใช้พาราควอตตามเงื่อนไขที่จำเป็น และเป็นไปตามกฏระเบียบของประเทศ เกษตรกรที่เข้ามาตรฐาน RSPO มีกี่รายที่ทำได้ ตอนนี้อินโดนีเซียเองก็ยังออกจากมาตรฐาน RSPO มาใช้มาตรฐานของตนเอง รวมทั้ง คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการควบคุมวัตถุอันตรายฯ เคยรายงานต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายแล้วว่า ไม่มีข้อมูลที่สามารถเชื่อมโยงได้อย่างชัดเจนกับข้อกล่าวอ้างว่าพาราควอตเป็นสารก่อมะเร็ง โรคผิวหนังอักเสบเนื้อเน่า การถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกนั้น ล้วนแต่ขาดความชัดเจนของข้อมูล อย่างโรคมะเร็งจากบุหรี่ในปีหนึ่งๆ ห้าหมื่นกว่าคน ทำไมไม่แบนบุหรี่ด้วย

      นายมนัส กล่าวอีกว่า  สิ่งที่เกษตรกรสงสัยที่สุด ตอนนี้ คือ ความพยายาม แบนพาราควอต อย่างรุนแรง และไม่มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ ควบคู่ไปกับ ความพยายาม ผลักดันสารเคมีทดแทนตัวใหม่ ที่ราคาแพงกว่าหลายเท่า แถมสารที่แนะนำเอ็นจีโอที่อังกฤษ บอกว่า ก่อมะเร็งและทำลายระบบประสาท สามารถตกค้างในสิ่งแวดล้อม ซึ่งสารทดแทนที่แนะนำนี้ ขายในไทยมานานแล้ว แต่เกษตรกรไม่ใช้เหตุเพราะแพงและอันตรายกว่า จึงเชื่อว่างานนี้ อาจมีเบื้องหลังจากกลุ่มทุนรายใหญ่ร่วมแบน หากพาราควอตยังอยู่ ตัวนี้ก็ขายไม่ได้ ท้ายสุด เกษตรกรก็รับเคราะห์เหมือนเดิม

       “เกษตรกร 500,000 ราย อยากร้องขอ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรงกลาโหม ” และขอให้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้รับเสียงเลือกตั้งส่วนใหญ่จากเกษตรกร คณะกรรมการวัตถุอันตราย กรมวิชาการเกษตร ได้โปรดพิจารณาจากข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ ไม่ตามกระแสสังคม เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นประเทศชาติเสียหาย ประชาชนเดือดร้อน ต้องนำภาษีประชาชนมาใช้อีกกี่แสนล้านบาท อย่าใช้เกษตรกรเล่นเกมการเมือง และอย่าเอื้อประโยชน์นายทุนที่อยู่เบื้องหลังการแบน”นายมนัส กล่าว

                                                                          วราวุธ ชูธรรมธัช

       ด้านนายวราวุธ ชูธรรมธัช รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยจะพึ่งเกษตรอินทรีย์ทั้งหมดไม่ได้ ต้องพึ่งพาเกษครเคมีด้วย ดังนั้นใครถนัดวิถีไหน ก็ทำไป และเป็นเรื่องที่ดีที่เกษตรกรออกมาให้ข้อมูล จะได้เป็นการให้ข้อมูลทั้งสองด้าน ไม่ใช่ให้ข้อมูลแต่เพียงด้านเดียว เป็นการโฆษณาชวนเชื่อ หากมีการแบน ต้นทุนเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคก็ต้องรับภาระราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้นด้วย