จับตา 14 จังหวัดยังเสี่ยงน้ำท่วม ภาคใต้ตอนกลางน่าห่วงที่สุด ฝนจ่อถล่มหนัก15 ตุลาคมนี้

  •  
  •  
  •  
  •  

ศูนย์อำนวยการน้ำฯ ประเมินตั้งแต่ 15 ตุลาคม 2562 ภาคใต้ตอนกลางฝั่งตะวันตกจะมีฝนตกหนัก นครศรีธรรมราช กระบี่ ภูเก็ต และสงขลาเสี่ยงที่สุด  เร่งประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องให้ติดตั้งเครื่องจักรระบายน้ำ รับมือพื้นที่เสี่ยงท่วมรวมทั้งประเทศมังมี 14 จังหวัดน่าห่วง เน้นชี้เฉพาะพื้นที่เคยท่วมซ้ำซาก

          ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจเพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ ครั้งที่ 6/2562 ว่า สถานการณ์ฝนในช่วงสัปดาห์นี้ พบว่า ตอนบนของประเทศเริ่มมีฝนลดลง ส่วนภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่องและตกหนักบางแห่ง แต่ถือว่าไม่มีอะไรน่ากังวล เนื่องจากมีเพียงฝนฟ้าคะนอง ไม่ใช่หย่อมความกดอากาศต่ำหรือร่องมรสุม จึงไม่มีความเสี่ยงในการเกิดน้ำท่วมไหลหลากครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่ แต่อาจจะมีเกิดเป็นน้ำท่วมชุมชนหรือน้ำท่วมเฉพาะจุดเท่านั้น ซึ่งที่ประชุมได้ประเมินว่าน่าจะส่งผลดีในการช่วยกักเก็บน้ำในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสานตอนล่าง

       อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2562 จะเกิดฝนตกหนักในบริเวณภาคใต้ตอนกลางฝั่งตะวันตก สำหรับพื้นที่เฝ้าระวังที่เสี่ยงท่วม และน้ำล้นตลิ่งทั้งหมด 14 จังหวัด 64 อำเภอ ประกอบด้วย ภาคตะวันออก 3 จังหวัด 6 อำเภอ ได้แก่ จ.จันทบุรี ชลบุรี ตราด ภาคตะวันตก 2 จังหวัด 14 อำเภอ ได้แก่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และภาคใต้ 9 จังหวัด 44 อำเภอ ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร ระนอง พังงา กระบี่ ตรัง พัทลุง และสงขลา ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายกรมชลประทานและกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เร่งเข้าติดตั้งเครื่องจักรเครื่องมือในพื้นที่เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์และให้ความช่วยเหลือได้อย่างทันที โดยเฉพาะ จ.นครศรีธรรมราช กระบี่ ภูเก็ต และสงขลา ที่อาจจะได้รับผลกระทบหนักกว่าพื้นที่อื่น

      

      เนื่องจากอิทธิพลของลมหนาวที่ปะทะเข้ามา ทำให้สภาพอากาศเกิดความผันผวนมาก ซึ่งขณะนี้ทางกรมชลประทานได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องจักรกลในพื้นที่ 16 จังหวัด ภาคใต้ จำนวน 1,106 หน่วย แบ่งเป็น เครื่องสูบน้ำ 453 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 300 เครื่อง รถแทรกเตอร์และรถขุด 108 คัน และเครื่องจักรกลสนับสนุนอื่น ๆ 245 หน่วย สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมใน จ.อุบลราชธานี ขณะนี้เหลือพื้นที่ประสบภัยอยู่ทั้งสิ้น 3 อำเภอ คือ อ.เมือง อ.วารินชำราบ และอ.สว่างวีระวงศ์ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงเร่งให้ความช่วยเหลือเพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายโดยไว

        ดร.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า สำหรับน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคไม่น่าจะมีปัญหา ซึ่งการประปาส่วนภูมิภาคได้ทำการสำรวจพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนในช่วงเดือนพฤษภาคม 2562 – เมษายน 2563 รวมทั้งสิ้น 48 สาขา ใน 24 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคเหนือ 7 จังหวัด 12 สาขา ภาคอีสาน 11 จังหวัด 28 สาขา ภาคตะวันออก 2 จังหวัด 4 สาขา และภาคใต้ 4 จังหวัด 4 สาขานั้น เบื้องต้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการบูรณาการร่วมประมวลจัดทำแผนแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยที่ได้จัดทำแผนสำรองไว้ในส่วนที่มีการใช้แหล่งน้ำร่วมกัน

 

      ขณะที่น้ำเพื่อทำการเกษตรในปีนี้ปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำหลายๆ แห่งมีค่อนข้างน้อย เช่น ในภาคอีสาน ซึ่งพื้นที่ที่มีปัญหายังคงเป็นพื้นที่เดิม ๆ เช่น จ.ขอนแก่น ชัยภูมิ เป็นต้น รวมถึงขณะนี้ในภาคกลางเริ่มมีการปลูกข้าวรอบสองและพืชต่อเนื่องแล้ว ทั้งนี้ สทนช. ได้ประเมินจากปริมาณน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบัน และพบว่าจะมีน้ำเหลือใช้สำหรับการปลูกพืชและข้าวรอบสองได้เพียงไม่เกิน 1,000 ล้าน ลบ.ม. เท่านั้น เพราะจำเป็นต้องกักเก็บน้ำไว้เพื่อให้เพียงพอตลอดฤดูแล้งหน้า โดยไม่ให้กระทบต่อน้ำอุปโภคบริโภคซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด

      นอกจากนี้สทนช.ได้แจ้งข้อมูลปริมาณน้ำต้นทุนทั้งประเทศไปยังกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เร่งเตรียมการและจัดทำแผนการเพาะปลูกให้มีความชัดเจน พร้อมประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรได้รับทราบโดยทั่วกันเพื่อป้องกันปัญหาการแย่งน้ำในอนาคต ซึ่งศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจจะมีการหารือแนวทาง มาตรการในทางปฏิบัติที่ชัดเจนรายพื้นที่ในวันจันทร์หน้า (14 ต.ค.62) ด้วย.