ปรับเกณฑ์ระบายน้ำ 11 เขื่อนใหญ่..เตือน!! ระดับน้ำโขงลดต่ำสุดๆ หวั่นกระทบ 8 จังหวัด

  •  
  •  
  •  
  •  

ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจ คาดระดับน้ำ อ.วารินชำราบ จ.อุบลฯ ลดต่ำเท่าตลิ่ง 7 ต.ค. นี้ ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำล้นก่อนหมดฝน เน้นภาคตะวันตก-ใต้ เร่งปรับเกณฑ์ระบายน้ำ 11 เขื่อนใหญ่ให้แล้วเสร็จก่อน 7 ต.ค. 62 จี้ทุกหน่วยรุกแผนรับแล้งล่วงหน้า หลังฝนเหนือ-อีสาน คาดระดับน้ำโขงจะลดต่ำลงกว่าในอดีต และอาจจะกระทบกับ 8 จังหวัดริมโขงได้  ระบุต้องวางแผนจัดสรรน้ำให้เพียงพอต่อทุกกิจกรรมตลอดแล้งหน้า  ย้ำกระทรวงเกษตรฯ ต้องวางแผนพื้นที่เพาะปลูกให้ชัดเจน ป้องกันปัญหาแย่งน้ำซ้ำรอยอดีต

         วันที่ 30 กันยายน 2562 ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจเพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ ว่า ศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจมีการประชุมเพื่อติดตามสถานการณ์ทุกวันจันทร์ และจะมีการประชุมทุกวันหากเกิดภาวะวิกฤติ เพื่อรายงานต่อ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และแจ้งหน่วยงานในพื้นที่ในการรับมือและแจ้งเตือนประชาชนต่อไป

         ในที่ประชุมวันนี้ ได้เร่งติดตามความก้าวหน้าการจัดทำหลักเกณฑ์และมาตรฐานการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ รายงานความก้าวหน้าและการจัดทำกรอบโครงสร้างกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เพื่อเร่งผลักดันให้มีผลปฏิบัติเป็นรูปธรรมทั้งแผนระยะสั้นเร่งด่วน และแผนระยะยาว ทั้งนี้ จากการติดตามสถานการณ์น้ำในจังหวัดอุบลราชธานี ที่ อ.วารินชำราบ ซึ่งเป็นจุดที่มีระดับตลิ่งต่ำที่สุด ระดับน้ำจะลดลง ตั้งแต่ปลายสัปดาห์นี้จนถึงต้นสัปดาห์หน้า และคาดว่าจะลดลงสู่ระดับน้ำตลิ่ง ในวันที่ 7 ต.ค. นี้ โดยขณะนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบได้เร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อระบายน้ำลงสู่แม่น้ำสายหลัก

       พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังได้ติดตามสถานการณ์ฝนในช่วงระยะเวลา 2 เดือน คือ เดือน ต.ค. และ พ.ย. ก่อนสิ้นสุดฤดูฝนปี 62 โดยติดตามข้อมูลจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ฯลฯ ทั้งสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำท่า การคาดการณ์และวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงเกิดฝนตกหนัก พื้นที่เสี่ยงน้ำล้นตลิ่ง โดยเฉพาะในบริเวณภาคตะวันตกและภาคใต้ เพื่อนำข้อมูลมาบูรณาการวิเคราะห์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงเกิดน้ำท่วม

       ทั้งนี้เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ได้ทันที โดยจากการวิเคราะห์โดยพิจารณาจากปริมาณน้ำในเขื่อนที่มีน้ำมาก พบพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและน้ำล้นตลิ่ง ดังนี้ เดือน ต.ค. 62 แม่น้ำ 18 สายหลัก ใน 12 จังหวัด 51 อำเภอ คือ จังหวัดชลบุรี จันทบุรี ตราด เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง พังงา กระบี่ ตรัง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และ เดือน พ.ย. 62 แม่น้ำ 16 สายหลัก ใน 8 จังหวัด 40 อำเภอ ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา นราธิวาส

        สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนปัจจุบัน พบแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีน้ำมาก 5 แห่ง คือ เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนแก่งกระจาน เขื่อนปราณบุรี และเขื่อนนฤบดินทรจินดา ซึ่งศูนย์อำนวยการน้ำฯ จะมีการประเมินติดตามสภาพอากาศ และสภาพน้ำท่าอย่างใกล้ชิด เมื่อมีแนวโน้มความเสี่ยงพื้นที่ใดที่อาจจะได้รับผลกระทบจะมีการแจ้งเตือนล่วงหน้าผ่านช่องทางต่างๆ ให้เข้าถึงประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยมากยิ่นขึ้น เช่น ทางไลน์ หรือ SMS เป็นต้น

        ดังนั้น ที่ประชุมจึงได้กำหนดให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเสนอเกณฑ์การระบายน้ำและการบริหารจัดการเขื่อนเก็บกักน้ำ เขื่อนระบายน้ำ และประตูระบายน้ำ ในรูปแบบเดียวกับเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งมีข้อกำหนด อาทิ ต้องไม่มีผลกระทบต่อด้านเหนือน้ำและท้ายน้ำ โดยพิจารณาอย่างเป็นระบบลุ่มน้ำ พิจารณาเงื่อนไขและข้อตกลงเดิมที่ภาครัฐทำขึ้นกับภาคประชาชน มีการกำหนดหน่วยงานผู้ที่รับผิดชอบชัดเจน ในแต่ละช่วงอัตราการระบายน้ำ เป็นต้น โดยเขื่อนที่ต้องจัดทำเกณฑ์อย่างเร่งด่วน ภายใน 7 ต.ค. 62 นี้ ประกอบด้วย เขื่อนกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ 6 แห่ง แบ่งเป็น ภาคตะวันตก ได้แก่ เขื่อนศรีนครินทร์ วชิราลงกรณ แก่งกระจาน ปราณบุรี

        ภาคใต้ ได้แก่ เขื่อนรัชชประภา บางลาง เขื่อนระบายน้ำขนาดใหญ่ 5 แห่ง แบ่งเป็น ภาคตะวันตก ได้แก่ เขื่อนแม่กลอง เพชร ภาคใต้ ได้แก่ เขื่อนปากพนัง ปัตตานี ภาคกลาง ได้แก่ เขื่อนเจ้าพระยา และประตูระบายน้ำ 2 แห่ง ในภาคใต้ ได้แก่ ปตร.อู่ตะเภา ปตร.ท่าตะเภา รวมทั้งเขื่อนขนาดกลางที่มีความจุมากกว่า 50 ล้าน ลบ.ม. ในภาคตะวันตกและภาคใต้ ระยะสั้น ภายใน 21 ต.ค 62 ได้แก่ เขื่อนขนาดใหญ่ ขนาดกลาง จุมากกว่า 50 ล้าน ลบ.ม. และแม่น้ำสายหลักทั้งหมด และในระยะยาว ภายใน 25 พ.ย. 62 ได้แก่ เขื่อนขนาดกลางและแม่น้ำสายรองทั้งหมด

       นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบรายงานพื้นที่ประสบอุทกภัย การให้ความช่วยเหลือ และการประชาสัมพันธ์ โดยได้มอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเตรียมเครื่องมือเครื่องจักรในการช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ พร้อมกันนี้ทุกหน่วยงานยังได้ร่วมกันกำหนดมาตรฐานสีที่ใช้ในการจำแนกระดับความรุนแรงของปริมาณฝน น้ำท่า และแหล่งน้ำ เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการแจ้งเตือนสาธารณภัยแก่ประชาชนให้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกันด้วย

        ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังได้หารือเกี่ยวกับการเตรียมการรองรับสถานการณ์น้ำในฤดูแล้งหน้าที่กำลังจะมาถึง โดยสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้คือระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ลดต่ำลงจากปริมาณฝนที่ลดลง จึงมีความกังวลว่าช่วงฤดูแล้งในปีนี้ ระดับน้ำโขงจะลดต่ำลงกว่าในอดีต และอาจจะกระทบกับ 8 จังหวัดริมโขงได้ โดยจากการสอบถามไปยังประเทศจีนและลาว พบว่ามีระดับน้ำโขงต่ำเนื่องจากฝนน้อยเช่นกัน ซึ่งประเด็นนี้จะต้องมีการหารือกันเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป ทั้งนี้ สทนช. ได้วิเคราะห์คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค ปี 62/63 พบพื้นที่เสี่ยงในเขตการประปาส่วนภูมิภาค 24 จังหวัด 48 สาขา แบ่งเป็น ภาคเหนือ 7 จังหวัด 12 สาขา ภาคอีสาน 11 จังหวัด 28 สาขา ภาคตะวันออก 2 จังหวัด 4 สาขา และภาคใต้ 4 จังหวัด 4 สาขา ซึ่งจำเป็นต้องมีการเตรียมแหล่งน้ำสำรองเพื่อป้องกันผลกระทบให้กับประชาชนด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมในการจัดสรรน้ำ ได้มีการคาดการณ์ปริมาณน้ำต้นทุนเบื้องต้น พิจารณาจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง และนอกเขตชลประทานโดยข้อมูลคาดการณ์จากกรมทรัพยากรน้ำ

       คาดการณ์ปริมาณน้ำช่วงสิ้นสุดฤดูฝน ณ วันที่ 1 พ.ย. 62 มีน้ำใช้การได้รวม 35,972 ล้าน ลบ.ม. ในเขตชลประทาน 27,399 ล้าน ลบ.ม. นอกเขตชลประทาน 8,573 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรน้ำ 5 กิจกรรม ได้แก่ 1) อุปโภค-บริโภค 2,703 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 7% 2) รักษาระบบนิเวศ 7,161 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 20% 3) สำรองน้ำต้นฤดูฝน(อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่) 9,969 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 28% 4) เกษตรกรรม 15,581 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 43% แบ่งเป็น ในเขตชลประทาน 9,937 ล้าน ลบ.ม. นอกเขตชลประทาน 5,644 ล้าน ลบ.ม. และ 5) อุตสาหกรรม 558 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 2%

         “เบื้องต้นที่ประชุมได้มอบหมายทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมมาตรการต่างๆ ก่อนเข้าสู่ฤดูแล้ง โดยเฉพาะการจัดสรรน้ำอย่างเหมาะสม ครอบคลุมกิจกรรมในทุกด้าน อาทิ การประเมินพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำดิบ การกำหนดแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2562/63 ทั้งในและนอกเขตชลประทาน รายจังหวัดทั้งประเทศ เพื่อให้มีการกำหนดพื้นที่ทำการเกษตรที่เหมาะสมและชัดเจน เกษตรกรรับทราบล่วงหน้าก่อนลงทุนเพาะปลูกเพื่อลดความเสี่ยง ลดการกระทบต่อการใช้น้ำในกิจกรรมด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะการอุปโภคบริโภค”ดร.สมเกียรติ กล่าว