ปรับเกณฑ์ใหม่ระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา หวังคุมเข้มผลกระทบพื้นที่ท้ายน้ำ

  •  
  •  
  •  
  •  

คณะกรรมการทรัพยากรน้ำฯมีมติให้ปรับเกณฑ์การบริหารจัดการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาใหม่ กำหลักเกนณ์ 4 กรณี ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ พร้อมเพิ่มอำนาจ กนช. และ อนุกรรมการอำนวยการด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อป้องผลกระทบพื้นที่ท้ายน้ำ ระบุกรณีการระบายน้ำเกินตั้งแต่ 700  ลบ.ม.ต่อวินาที ต้องรายงานให้หน่วยงานรับผิดชอบทราบล่วงหน้า 3 วัน เผยปีนี้ลุ่มเจ้าพระยาส่อสัญญาณบวก หลังประเมินเขื่อนหลักและแก้มลิงธรรมชาติยังรับน้ำได้อีกมาก ล่าสุดกรมชลฯ แจ้งปรับเพิ่มการระบายน้ำเขื่อนสิริกิติ์-แควน้อย-ป่าสักฯ หนุนอุปโภค-บริโภคระบบนิเวศเพิ่ม

         ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งล่าสุด ได้มีมติปรับเกณฑ์การบริหารจัดการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาทใหม่ ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง แบ่งเป็น 4 กรณี คือ 1.กรณีระบายน้ำในปริมาณน้อยว่า 700 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที ซึ่งจะไม่เกินความจุของลำน้ำและไม่กระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ ให้กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำได้ตามปกติ โดยไม่ต้องขออนุญาตหรือรายงานใดๆ 2.กรณีการระบายน้ำตั้งแต่ 700–1,500 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งจะก่อให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่ท้ายน้ำหรือเหนือน้ำ จะต้องรายงานต่อคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รับทราบภายใน 3 วัน

          3.กรณีที่เขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำตั้งแต่ 1,500–2,000 ลบ.ม.ต่อวินาที จะต้องขออนุญาตต่อคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ล่วงหน้า 3 วัน เพื่อพิจารณาเห็นชอบ พร้อมทั้งให้ทำรายงานให้รับทราบอีกด้วย แต่ถ้าหากเป็นกรณีฉุกเฉินให้ขออนุญาตประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พิจารณาโดยตรง และให้รายงานต่อ กนช. โดยเร่งด่วน และ 4. กรณีที่จำเป็นจะต้องระบายน้ำมากกว่า 2,000 ลบ.ม.ต่อวินาที กรมชลประทานจะต้องขอนุญาตต่อ กนช. ซึ่งมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ล่วงหน้า 3 วัน เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ แต่ถ้าหากเป็นกรณีฉุกเฉิน ให้ขออนุญาตประธาน กนช. พิจารณาโดยตรง และให้รายงานต่อ กนช. โดยเร่งด่วน

         “ในการระบายน้ำตั้งแต่ 700-2,000 ลบ.ม.ต่อวินาที จะมีพื้นที่ท้ายน้ำได้รับผลกระทบเกิดภาวะน้ำท่วม ได้แก่ คลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ต.หัวเวียง อ.เสนานิคม และ ต.หัวเวียง ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา และหากระบายน้ำตั้งแต่ 2,000-2,200 ลบ.ม.ต่อวินาที จะมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้น ได้แก่ วัดสิงห์ อ.อินทร์บุรี อ.เมือง อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี และวัดไชไย อ.ไชโย จ.อ่างทอง ถ้าระบายตั้งแต่ 2,200-2,400 ลบ.ม.ต่อวินาที มีพื้นที่ได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้น ได้แก่ ต.โพนางคำ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท วัดเสือข้าม อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง และถ้าระบายมากกว่า 2,400 ลบ.ม.ต่อวินาที มีพื้นที่ได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้น คือ บ้านท่าทราย อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ต.อินทร์บุรี อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี และ ต.เทวราช อ.ไชโย จ.อ่างทอง ทั้งนี้ ในเร็วๆ นี้สทนช.ได้กำหนดให้มีการประชุมคณะอนุกรรมการด้านเทคนิคและวิชาการภายใต้คำสั่ง กนช.ที่ 4/2562 เพื่อหารือการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนร่วมกับหน่วยงานในเกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดผลในทางเป็นปฏิบัติด้วย”ดร.สมเกียรติ กล่าว

          สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มเจ้าพระยาในปัจจุบัน มีฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนตกหนักบางแห่ง จากการเฝ้าระวัง พบว่า มีฝนตกหนักในบางพื้นที่ แต่ไม่น่าเป็นห่วงเนื่องจาก 4 เขื่อนหลักของลุ่มเจ้าพระยา คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนฯ และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ยังสามารถรองรับน้ำได้อีกจำนวนมาก รวมทั้งแก้มลิงธรรมชาติที่เตรียมไว้รองน้ำปริมาณน้ำฝน ที่ตกท้ายเขื่อน ยังมีน้ำไหลเข้าไม่มากในภาพรวมยังอยู่ในสถานการณ์ปกติ การระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาขณะนี้ยังไม่เกิน.500 ลบ.ม./วินาที

          นอกจากนี้ กรมชลประทานได้มีหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการมายัง สทนช.ถึงการปรับเกณฑ์การระบายน้ำจาก 3 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนสิริกิติ์ ปรับเพิ่มการระบายช่วงวันที่ 16 -22 ก.ย.62 จากวันละ 3 ล้าน ลบ.ม. เป็น 4.5 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ปรับเพิ่มการระบายช่วงวันที่ 18 -22 ก.ย.62 จากเฉลี่ยวันละ 0.43 ล้าน ลบ.ม. เป็น 1.29 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนป่าสักฯ ปรับเพิ่มการระบายช่วงวันที่ 16 -22 ก.ย.62 จากวันละ 0.23 ล้าน ลบ.ม. เป็น 0.86 ล้าน ลบ.ม.เพื่อสนับสนุนน้ำอุปโภค-บริโภค และระบบนิเวศให้แก่พื้นที่ท้ายน้ำ โดย สทนช.ได้เน้นย้ำการระบายน้ำจะต้องคำนึงถึงฝนที่ตกในพื้นที่ด้านท้ายประกอบด้วย