7 จังหวัดริมลุ่มเจ้าพระยาส่อวิกฤต กรมชลประทานประสานทุกหน่วยเฝ้าระวังน้ำท่วม

  •  
  •  
  •  
  •  

สองฝากฝั่งลุ่มเจ้าพระยาส่อวิกฤต กรมชลประทานประสาน 7 จังหวัด “อุทัยธานี-ชัยนาท-สิงห์บุรี-อ่างทอง-สุพรรณบุรี-พระนครศรีอยุธยา- ลพบุรี” ให้ทำการประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริษัท ห้างร้าน ที่ประกอบกิจการในแม่น้ำเจ้าพระยา และผู้ที่ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย ด้านท้ายประตูระบายน้ำผักไห่ ขอให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ประกาศสู้สุดฤทธฺ์ จะบริหารจัดการน้ำอย่างเต็มศักยภาพของพื้นที่ ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตร 

         รายงานข่าวจากกรมชลประทานล่าสุดถึงกรณี ฝนที่ตกหนักทางตอนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลหลากลงสู่แม่น้ำเจ้าอย่างต่อเนื่อง กรมชลประทาน คุมเข้มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาไม่เกิน 900 ลูกบาศก์ต่อวินาที(ลบ.ม./วินาที) พร้อมเตือนประชาชนริมสองฝั่งด้านท้ายแม่น้ำน้อยในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เตรียมรับมือน้ำเพิ่มสูงขึ้น

          ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า เนื่องจากพื้นที่ตอนบนของประเทศมีปริมาณฝนที่ตกหนัก และฝนที่ตกสะสมมากขึ้น ส่งผลให้มีปริมาณน้ำท่าไหลหลากลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยามากขึ้น ล่าสุด เมื่อเวลา 18.00 น. วันที่ 3 กันยายน 2562 มีปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานีวัดน้ำ C.2 อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ 1,141 ลบ.ม./วินาที และมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 601 ลบ.ม./วินาที และมีแนวโน้มที่ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาจะเพิ่มสูงขึ้นไปจนถึงประมาณ 700 – 900 ลบ.ม./วินาที  จะส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบัน ได้แก่ บริเวณตำบลบ้านกระทุ่ม ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา และตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.50 – 1.00 เมตร ปริมาณน้ำดังกล่าวจะยังไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

        เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำดังกล่าว กรมชลประทาน ได้ประสานกับทางจังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา และ ลพบุรี ทำการประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริษัท ห้างร้าน ที่ประกอบกิจการในแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำน้อยด้านท้ายประตูระบายน้ำผักไห่ ขอให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และรับข่าวสารจากทางราชการเท่านั้น

        อย่างไรก็ตามทางกรมชลประทาน จะควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ 700 – 900 ลบ.ม./วินาที และจะบริหารจัดการน้ำอย่างเต็มศักยภาพของพื้นที่ โดยไม่ให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตร ทั้งนี้ หากมีปริมาณน้ำเหนือไหลหลากจากทางตอนบนมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามากกว่า 900 ลบ.ม./วินาที กรมชลประทาน จะได้แจ้งให้ทุกฝ่ายทราบในระยะต่อไป หากต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร. 1460 สายด่วนกรมชลประทาน ได้ตลอดเวลา