จู่โจมอีก 10 จังหวัดปฏิบัติการฝนหลวงบรรเทาแล้ง

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมฝนหลวงฯ ส่งเครื่องบินจู่โจมตามแผนปฏิบัติการฝนหลวงประจำวันที่ 16 สิงหาคม 2562 ตามเป้าหมาย 10 จังหวัด  38 อำเภอ 3,253 หมู่บ้าน ตามที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยออกประกาศเขตพื้นที่ภัยแล้ง หลังพบอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่มีจำนวน 19 แห่ง และขนาดกลางน 167 เหลือน้ำไม่ถึง 30% ล่าสุดได้รับการสนับสนุนเครื่องบินอากาศยานจากกองทัพอีก 6 ลำที่พร้อมจะออกปฎิบัติการได้ทันที หลังจากที่ได้ดัดแปลง เจาะส่วนท้องของเครื่องบิน เพื่อติดตั้งกรวยโปรยสาร

          เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 16 สิงหาคม 2562  นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและ การบินเกษตร เปิดเผยว่า ในวันนี้ทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้รับการสนับสนุนเครื่องบินอากาศยานจากกองทัพ ประกอบด้วย ได้รับสนับสนุนจากกองทัพอากาศจำนวน 5 ลำ และจากกองทัพบก จำนวน 1 ลำ รวมเป็นทั้งหมด 6 ลำ เพื่อร่วมปฏิบัติการฝนหลวงช่วยคลี่คลายสถานการณ์ภัยแล้ง ทั้งนี้ เครื่องบินอากาศยาน ที่จะสามารถร่วมปฏิบัติการฝนหลวงได้จะต้องได้รับการดัดแปลง เจาะส่วนท้องของเครื่องบินเพื่อติดตั้งกรวยโปรยสาร ซึ่งเครื่องบินจากกองทัพอากาศและกองทัพบก ได้เคยเข้าร่วมปฏิบัติการฝนหลวงกับทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตรอยู่ก่อนหน้าแล้ว จึงมีความพร้อมในการปฏิบัติภารกิจดังกล่าวทันที สำหรับเครื่องบินอากาศยานอื่นๆ ของกองทัพที่จะมาร่วมปฏิบัติการฝนหลวง ยังอยู่ในระหว่างการดัดแปลงและติดตั้งกรวยโปรยสาร หากมีความพร้อมแล้วจะเข้าร่วมปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรทันที

         สำหรับการปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวานนี้ (15 ส.ค. 2562) หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 9 หน่วยปฏิบัติการ ได้ขึ้นบินปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร พื้นที่ประสบภัยแล้ง และพื้นที่เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่บางส่วนของ จ.เชียงใหม่ พิษณุโลก ลพบุรี กาญจนบุรี ขอนแก่น อุบลราชธานี สุรินทร์ สระแก้ว สงขลา และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนวังร่มเกล้า เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนสิรินธร และอ่างเก็บน้ำอีก 12 แห่ง รวมถึงพื้นที่ป่าพรุควนเคร็ง

         ส่วนแผนปฏิบัติการฝนหลวงประจำวันที่ 16 สิงหาคม 2562 ตามที่กรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยได้ออกประกาศเขตพื้นที่ภัยแล้ง ปัจจุบันมีจำนวน 10 จังหวัด (รวม 38 อำเภอ 270 ตำบล 3,253 หมู่บ้าน) คือ จ.เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ กำแพงเพชร สุพรรณบุรี ศรีสะเกษ นครราชสีมา ชัยภูมิ สุรินทร์ สระแก้ว และพิษณุโลก ขณะที่ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ของปริมาณน้ำใช้การ มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่มีจำนวน 19 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางจำนวน 167 แห่ง ลดลงจากเดิมลงมา 3 แห่ง คือภาคเหนือและ ภาคกลาง ส่วนการคาดการณ์พื้นที่ประกาศเสี่ยงฝนตกหนักจากกรมอุตุนิยมวิทยาวันนี้ อยู่ที่บริเวณภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคใต้ทางแถบชายฝั่งทะเลอันดามัน

       ด้านแผนที่ปริมาณฝนตกสะสมในช่วง 7 วัน (วันที่ 9-15 ส.ค.62) แสดงให้เห็นว่ามีปริมาณน้ำฝนเก็บกักในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างโดยเฉพาะบริเวณของ จ.นครราชสีมา และ จ.สระแก้ว ของภาคตะวันออก ยังมีปริมาณน้อยกว่า 10 มิลลิเมตร ซึ่งกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะวางแผนดำเนินการช่วยเหลือเมื่อสภาพอากาศเหมาะสมต่อไป

        อย่างไรก็ตาม ในการติดตามสภาพอากาศเพื่อวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวง ในพื้นที่ภาคเหนือ พบว่า ผลการตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์ร้องกวาง จ.แพร่ สถานีเรดาร์อมก๋อย จ.เชียงใหม่ และสถานีเรดาร์ของกรมอุตุนิยมวิทยา จ.เชียงใหม่ มีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 75% (อมก๋อย) 89% (เชียงใหม่)ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 92% (อมก๋อย) 84% (เชียงใหม่) ค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -1.1 (อมก๋อย) -1.0 (เชียงใหม่)และความเร็วลมที่ระดับการเกิดเมฆ 16 กม./ชม. (อมก๋อย) 26 กม./ชม. (เชียงใหม่) หน่วยปฏิบัติการฯ จ.เชียงใหม่ พิษณุโลก และตาก ทั้ง 3 หน่วย ขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน เนื่องจากเมฆชั้นกลางและชั้นสูงปกคลุมหนาแน่น หากสภาพอากาศพร้อมจะขึ้นบินปฏิบัติการในพื้นที่เป้าหมายทันที

        พื้นที่ภาคกลาง จากผลตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์ตาคลี จ.นครสวรรค์ พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 81% ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 78% ค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ 1.0 และความเร็วลมที่ระดับการเกิดเมฆ 13 กม./ชม. หน่วยปฏิบัติการฯ จ.กาญจนบุรี จึงตัดสินขึ้นบินปฏิบัติการพื้นที่การเกษตรบริเวณ อ.บ่อพลอย เลาขวัญ หนองปรือ ศรีสวัสดิ์ ห้วยกระเจา พนามทวน จ.กาญจนบุรี อ.เดิมบางนางบวช สามชุก ด่านช้าง หนองหญ้าไซ ดอนเจดีย์ อู่ทอง เมืองสุพรรณบุรี จ.สุพรรณบุรี และพื้นที่ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยท่าเดื่อ อ่างเก็บน้ำกระเสียว จ.สุพรรณบุรี และอ่างเก็บน้ำห้วยเทียน ด้านหน่วยปฏิบัติการฯ ลพบุรี จึงขอติดตามสภาพอากาศ เนื่องจากเมฆชั้นกลางและชั้นสูงปกคลุมหนาแน่น หากสภาพอากาศพร้อมจะขึ้นบินปฏิบัติการทันที

       พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากผลการตรวจอากาศของสถานีเรดาร์พิมาย จ.นครราชสีมา และสถานีเรดาร์บ้านผือ จ.อุดรธานี พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 97% (ราษีไศล) 90% (พิมาย) 92% (บ้านผือ) ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 94% (ราษีไศล) 85% (พิมาย) 92% (บ้านผือ) ค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -1.5 (ราษีไศล) -1.4 (พิมาย) -2.7 (บ้านผือ) และความเร็วลมที่ระดับการเกิดเมฆ 29 กม./ชม.(ราษีไศล) 25 กม./ชม.(พิมาย) 38 กม./ชม. (บ้านผือ) หน่วยปฏิบัติการฯ จ.ขอนแก่น จึงตัดสินใจขึ้นบินปฏิบัติการ ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรบริเวณ จ.ชัยภูมิ และ จ.ขอนแก่น

        ขณะที่หน่วยปฏิบัติการฯ จ.สุรินทร์ ตัดสินใจขึ้นบินปฎิบัติการ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรบริเวณ จ.บุรีรัมย์ตอนล่าง จ.สุรินทร์ตอนล่าง และพื้นที่ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง อ่างเก็บน้ำอำปึล อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก ส่วนหน่วยปฏิบัตการฯ จ.นครราชสีมา ขอติดตามสภาพอากาศ เนื่องจากมีเมฆชั้นกลางชั้นสูงปกคลุมหนาแน่น หากสภาพอากาศเหมาะสมจะขึ้นบินปฏิบัติการช่วยเหลือทันที

       ในพื้นที่ภาคตะวันออก จากผลการตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์สัตหีบ จ.ชลบุรี พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 91% ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 77% และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -2.2 หน่วยปฏิบัติการฯ และความเร็วลมที่ระดับการเกิดเมฆ 18 กม./ชม. หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงฯ จ.สระแก้ว จึงขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากช่วงบ่ายมีสภาพอากาศที่เหมาะสมจะขึ้นบินปฏิบัติการช่วยเหลือในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบต่อไป

         ภาคใต้ ผลตรวจสภาพอากาศจากสถานีเรดาร์พนม จ.สุราษฎร์ธานี พบว่า มีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 88% ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 81% ค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ 0.0 และความเร็วลมที่ระดับการเกิดเมฆ 30 กม./ชม. แต่เนื่องด้วยในวันนี้ครบรอบการซ่อมบำรุงอากาศยาน หน่วยปฏิบัติการฯ จ.สงขลา จึงยังไม่สามารถปฏิบัติภารกิจได้ หากดำเนินการเรียบร้อยและมีสภาพอากาศที่เหมาะสมจะขึ้นบินปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่ที่มีความต้องการน้ำทันที

       ” กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะเร่งปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือในพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง และภัยพิบัติทางธรรมชาติรูปแบบต่างๆ ในทุกพื้นที่ทันที เมื่อสภาพอากาศเอื้ออำนวย ทั้งนี้ สามารถแจ้งการขอรับบริการฝนหลวงได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงในทุกภูมิภาคของประเทศ และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ทางเว็บไซต์/เพจ Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร” นายสุรสีห์  กล่าว